fbpx

บทบาทของกรรมการผู้หญิงในบริษัทจดทะเบียนไทย (Female On Board’s Directors)

เพื่อส่งเสริมการหลายหลายทางเพศ (gender diversity) หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการได้ออกข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อส่งเสริมผู้หญิงให้มีบทบาทในเวทีต่างๆ ทั้งเวทีระดับโลก ภูมิภาค หรือระดับบริษัท และพบว่า หญิงไทยมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในฐานะกรรมการของคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนไทย และมีบทบาทผู้นำ (leadership) ในบริษัทจดทะเบียนไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งในฐานะ “ประธานกรรมการ” หรือ “ผู้บริหารระดับสูงสุด” ของบริษัทจดทะเบียน

กรรมการผู้หญิง
  • จากการศึกษาโครงสร้างคณะกรรมการของบริษัทจดทะเบียนไทย ณ สิ้นปี 2563 จำนวน 731 บริษัท พบว่า ณ สิ้นปี 2563 สัดส่วนจำนวนผู้หญิงต่อจำนวนกรรมการทั้งชุดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 22.23% จาก ณ สิ้นปี 2562 ที่อยู่ 22.09% และพบว่า ณ สิ้นปี 2563 สัดส่วนจำนวนที่นั่งกรรมการเป็นผู้หญิงต่อจำนวนที่นั่งกรรมการอยู่ที่ 21.02% เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่อยู่ที่ 20.72%
  • นอกจากนี้ ณ สิ้นปี 2563 ยังพบว่า 87.3% ของบริษัทจดทะเบียนจากทั้งหมด ได้แต่งตั้งผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการของบริษัท ซึ่งสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 ที่อยู่ที่ 79.4%
  • ณ สิ้นปี 2563 พบว่า 56.2% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดมีการแต่งตั้งผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน ดำรงตำแหน่งกรรมการโดยเป็น “กรรมการอิสระ” ในคณะกรรมการบริษัท และสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 ที่อยู่ที่ 47.8%
  • ผู้หญิงมีบทบาทในคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่ผู้หญิงดำรงตำแหน่งเป็น “ประธานกรรมการ” (chairman of board director) โดย ณ สิ้นปี 2563 มี 57 บริษัท ที่ผู้หญิงดำรงตำแหน่งเป็น “ประธานกรรมการ” หรือ คิดเป็น 8.4% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่อยู่ที่ 47 บริษัท 6.9% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด
  • ขณะที่บทบาทผู้หญิงในด้านการบริหารจัดการ เมื่อพิจารณาจากผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารอันดับสูงสุดขององค์กร พบว่า ณ สิ้นปี 2563 ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปี 2562 โดย ณ สิ้นปี 2563 มีผู้หญิงเป็นผู้บริหารอันดับสูงสุดของบริษัท จำนวน 101 บริษัท คิดเป็น 13.8% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ลดลงจากจำนวน 105 บริษัท คิดเป็น 14.8%
กรรมการผู้หญิง

บทบาทของผู้หญิงในคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียน

กรรมการ (directors) ในคณะกรรมการบริษัท (board of directors) เป็นอีกกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากกรรมการเปรียบเสมือนตัวแทนของผู้ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียน ที่มีบทบาทในการกำหนดกลยุทธ์ ตลอดทิศทางการดำเนินการของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นและเกิดประโยชน์ต่อบริษัทในระยะยาว ดังนั้น การคัดเลือกกรรมการที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมจึงมีส่วนสำคัญกับบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันมีการส่งเสริมเรื่องความหลากหลายทางเพศ และส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทสำคัญในการบริหารองค์กร สอดคล้องกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 ประการ โดยเฉพาะเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ประการที่ คือ ความเท่าเทียมทางเพศ

นอกจากนี้ ใน OECD Corporate Governance Factbook (2021) ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร กรอบการดำเนินงานด้านบรรรษัทภิบาลของหน่วยงานกว่า 50 หน่วยงานทั่วโลก ตามหลักการบรรษัทภิบาลของ G20/OECD พบว่า หลักการดังกล่าวให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศของคณะกรรมการ (board diversity) และเสนอว่า “ประเทศต่างๆ อาจต้องการพิจารณามาตรการต่างๆ เช่น เป้าหมายโดยสมัครใจ ข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูล โควตาของคณะกรรมการ และความคิดริเริ่มส่วนตัวที่ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศในคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง” (Principle VI.E.4) และมีความเชื่อว่า กรรมการที่เป็นผู้หญิงจำนวนมากขึ้น อาจนำเสนอมุมมองที่เป็นอิสระ (independent views) ในที่ประชุมคณะกรรมการและมีความเข้นข้นในกระบวนการตรวจสอบ  (monitoring function) ซึ่งในประเทศต่างๆ ได้ผลักดันให้เกิดความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการปรับเปลี่ยนกฎหมาย การปรับเกณฑ์ การกำหนดเป็นข้อเสนอแนะ เป็นต้น[1]

สำหรับในประเทศไทยมีการผลักดันเรื่องความหลากหลายทางเพศเช่นกัน โดยเริ่มจากบริษัทจดทะเบียนหนึ่งๆ ควรมีผู้หญิงเป็นกรรมการอย่างน้อย 1 ท่าน จนกระทั่งปัจจุบันที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการสนับสนุนให้ผู้หญิงในบทบาทในคณะกรรมการเพิ่มขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายปี 2565 ที่จะสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนไทยว่า 30% ของบริษัทจดทะเบียนไทยมีกรรมการหญิงอย่างน้อย 30% ของจำนวนคณะกรรมการทั้งคณะ[2]

[1] https://www.oecd.org/corporate/OECD-Corporate-Governance-Factbook.pdf

[2] https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/biz2u/992970

ผู้หญิงมีบทบาทในคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนไทยเพิ่มมากขึ้น

จากฐานข้อมูลบรรษัทภิบาลเพื่องานวิจัยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่เก็บรวบรวมข้อมูลกรรมการ ข้อมูลผู้บริหาร และค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (บริษัทจดทะเบียนไทย) จากแหล่งข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ อาทิ แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) รายงานประจำปี (แบบ 56-2)และข้อมูลเปิดเผยสาธารณะอื่นๆ ของบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น สำหรับปี 2558 ถึงปี 2563 ซึ่งพบว่า ณ สิ้นปี 2563 บริษัทจดทะเบียนไทยรวม 731 บริษัท มีกรรมการ (directors) รวม 5,506 ราย และจากการที่กรรมการ 1 ราย อาจได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 1 แห่ง ส่งผลให้จำนวนตำแหน่งหรือจำนวนที่นั่งกรรมการมีจำนวนมากกว่าจำนวนกรรรมการ ดังนั้น หากพิจารณาจากจำนวนที่นั่งกรรมการรวมของทุกบริษัท พบว่า มีจำนวนที่นั่งกรรมการ (board seat) 7,017 ที่นั่ง [1]  ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่มีจำนวนกรรมการ 5,319 ราย รวม 6,771 ที่นั่งกรรมการ จาก 708 บริษัท

กรรมการผู้หญิง

เมื่อพิจารณาจำนวนผู้หญิงและจำนวนที่นั่งกรรมการที่เป็นผู้หญิง ณ สิ้นปี 2563 พบว่า มีกรรมการผู้หญิงรวม 1,224 ราย จากกรรมการทั้งหมด 5,506 ราย หรือคิดเป็น 22.23% ของจำนวนกรรมการทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 22.09% จาก ณ สิ้นปี 2562 และหากพิจารณาจากจำนวนที่นั่งกรรมการ พบว่า ณ สิ้นปี 2563 มีจำนวนที่นั่งกรรมการที่เป็นผู้หญิงรวม 1,475 ที่นั่งจากทั้งหมด 7,017 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 21.02% ของจำนวนที่นั่งกรรมการทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 20.72% จาก ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งจากข้อมูลนี้ อาจกล่าวได้ว่า ผู้หญิงมีบทบาทในคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนไทยเพิ่มมาก สังเกตได้จากผู้หญิงมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนไทย ทั้งในรูปจำนวนกรรมการและที่นั่งกรรมการ

[1] จำนวนที่นั่งกรรมการ นับรวมที่นั่งของกรรมการทุกบริษัทที่ทำการศึกษารวมกัน ขณะที่จำนวนกรรมการ พิจารณารายคนทั้งตลาด ไม่มีการนับซ้ำ อาทิ บุคคล 1 ราย เป็นกรรมการใน 2 บริษัท จะนับเป็นกรรมการ 1ราย รวม 2 ที่นั่งกรรมการ เป็นต้น

บริษัทจดทะเบียนไทยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้หญิงให้มีบทบาทในคณะกรรมการบริษัทเพิ่มขึ้น สังเกตได้จาก สัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนที่มีผู้หญิงอย่างน้อยหนึ่งคน ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในช่วงปี 2558 – 2563

จากข้อมูลประจำปี 2563 (ภาพที่ 1) พบว่า ณ สิ้นปี 2563 พบว่า 87.3% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดได้แต่งตั้งผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการของบริษัท ซึ่งจากฐานข้อมูลที่ฝ่ายวิจัยรวบรวมพบว่า สัดส่วนนี้มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 ที่มีบริษัทจดทะเบียนเพียง 79.4% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดได้แต่งตั้งผู้หญิงอย่างน้อย   1 คน ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการของบริษัท

กรรมการผู้หญิง

เมื่อพิจารณาความหลากหลายของเพศ (gender diversity) ร่วมกับข้อมูลประเภทกรรมการ (director type) ตามเกณฑ์ที่ระบุในแบบสำรวจในการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย (Corporate Governance Report: CGR) ว่า คณะกรรมการมีกรรมการอิสระที่เป็นผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน พบว่า ณ สิ้นปี 2563 มีบริษัทจดทะเบียนรวมกว่า 56.2% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดมีการแต่งตั้งผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน ดำรงตำแหน่งกรรมการโดยเป็น “กรรมการอิสระ” ในคณะกรรมการบริษัท และสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 47.8% เท่านั้น (ภาพที่ 1)

ณ สิ้นปี 2563 พบว่า  24% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ที่มีกรรมการเป็นผู้หญิงมากกว่า 30 % ของจำนวนกรรมการทั้งชุด

ตามเป้าหมายปี 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่สนับสนุนให้ผู้หญิงในบทบาทในคณะกรรมการบริษัทเพิ่มมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายว่า “30% ของบริษัทจดทะเบียนไทยมีกรรมการหญิงอย่างน้อย 30% ของจำนวนคณะกรรมการทั้งคณะ” ซึ่งจากการศึกษาโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนไทย ณ สิ้นปี 2563 (ภาพที่ 2) พบว่า 24% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนจำนวนกรรมการผู้หญิงในคณะกรรมการมากกว่า 30% ของจำนวนคณะกรรมการทั้งชุด 

กรรมการผู้หญิง

และจากการศึกษานี้ยังพบว่า 13% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดที่ยังไม่มีกรรมการที่เป็นผู้หญิง ขณะที่ส่วนใหญ่ (ประมาณ 30% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด) มีกรรมการที่เป็นผู้หญิงอยู่ในช่วง มากกว่า10% แต่ไม่เกิน 20%” และค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 21% ของจำนวนกรรมการในคณะกรรมการทั้งชุด (ภาพที่ 2) ขณะที่บริษัทจดทะเบียนที่มีกรรมการที่เป็นผู้หญิงในสัดส่วนสูงสุดอยู่ที่ 67% ของจำนวนกรรมการในคณะกรรมการบริษัททั้งชุด

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้หญิงมีบทบาทในคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่ผู้หญิงดำรงตำแหน่งเป็น “ประธานกรรมการ” (chairman of board director) หรือหัวหน้าของคณะกรรมการทั้งชุด โดย ณ สิ้นปี 2563 มี 57 บริษัท ที่มีผู้หญิงเป็น “ประธานกรรมการ” (chairman of board director) หรือ คิดเป็น 8.4% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่อยู่ที่ 47 บริษัท 6.9% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 

ขณะที่บทบาทผู้หญิงในด้านการบริหารจัดการ (management) ลดลงเล็กน้อย เมื่อพิจารณาจากผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารอันดับสูงสุดขององค์กร (ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ กรรมการผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งอื่นในระดับเดียวกันหรือเทียบเท่า) ณ สิ้นปี 2563 ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปี 2562 โดย ณ สิ้นปี 2563 มีผู้หญิงเป็นผู้บริหารอันดับสูงสุดของบริษัท จำนวน 101 บริษัท คิดเป็น 13.8% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ลดลงจากจำนวน 105 บริษัท คิดเป็น 14.8%

กล่าวโดยสรุป การส่งเสริมผู้หญิงให้มีบทบาทในเวทีต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งเวทีระดับโลก ภูมิภาค หรือระดับบริษัท เพื่อส่งเสริมการหลายหลายทางเพศ (gender diversity) หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการได้ออกข้อเสนอแนะต่างๆ ให้บริษัทจดทะเบียนได้มีการปรับตัวตาม ซึ่งจากการศึกษา พบว่า ผู้หญิงไทยมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในฐานะกรรมการของคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนไทย ทั้งด้านจำนวนและสัดส่วนของผู้หญิงในคณะกรรมการบริษัท และมีบทบาทผู้นำ (leadership) ในบริษัทจดทะเบียนไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งในฐานะ “ประธานกรรมการ” หรือ “ผู้บริหารระดับสูงสุด” ของบริษัทจดทะเบียน  แต่หากเปรียบเทียบกับเป้าหมายและข้อเสนอะแนะต่างๆ แล้ว บริษัทจดทะเบียนไทยยังสามารถเพิ่มความหลากหลายทางเพศได้มากยิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกบุคลากรที่มาทำหน้าที่กรรมการของบริษัทซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ดังนั้น นอกจากด้านความหลากหลายทางเพศแล้ว บริษัทจดทะเบียนควรให้ความสำคัญความหลากหลายในด้านต่างๆ อาทิ ความรู้ มุมมอง ประสบการณ์ ทักษะหรือความสามารถในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น ประกอบการคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนด้วย

ข้อมูลที่ปรากฎในเอกสารฉบับนี้ จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และแนวคิดแก่ผู้อ่าน มิใช่การให้คำแนะนำด้านการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมิได้ให้การรับรองในความถูกต้องของข้อมูล และไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น อันเนื่องจากการนำข้อมูลไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดไปใช้อ้างอิง หรือเผยแพร่ไม่ว่าในลักษณะใด นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมข้อมูลไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดตามหลักเกณฑ์ที่เห็นสมควร ความเห็นที่ปรากฎในรายงานฉบับนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

จัดทำโดย นางสาวสุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์ ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *