ฮาคูโฮโด เปิดผลสำรวจใหม่ล่าสุดชีวิตเริ่ม ‘อยู่ตัว’ ค่าความสุขพุ่งทะยานดันความอยากช็อปสูงสุดทั่วประเทศ
- คน กทม. ต้องการช็อปเพิ่มขึ้นถึง 15% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย ที่ผ่านมา ด้วยบรรยากาศแห่งความสุขกลับมาเต็มที่ ผู้คนเพิ่มความอยากออกไปใช้ชีวิตเพื่อตนเองและครอบครัว
- ฮาคูโฮโด แนะแบรนด์ เน้นเสนอจุดยืนให้เห็นถึงความโปร่งใส จริงใจ ต่อผู้บริโภค และผลักดัน Best Version of Me ให้ผู้คนเต็มที่กับชีวิต

สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND) รวมกับบริษัทในเครือฯ บริษัท สไปซี่ ฮาคูโฮโด จำกัด SPICY Hakuhodo (Thailand) ได้เผยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ.2565 พบว่า ชีวิตคนไทยเริ่มอยู่ตัว คนไทยมีความหวังและรู้สึกมั่นคงมากขึ้น ผู้คนเริ่มให้ความสนใจเรื่องต่างๆ นอกเหนือจากโควิด ดันความอยากใช้จ่ายกลับมาเพิ่มสูงสุด
พร้อมแนะแบรนด์เร่งทำการสื่อสารการตลาดในเชิง “เต็มที่กับการใช้ชีวิต” เพื่อกระตุ้นความสุขให้กับตนเองและคนในครอบครัว และแสดงจุดยืนให้ผู้บริโภคเห็นถึงความโปร่งใส ตรงไปตรงมา อาทิ อธิบายเหตุและผลในการขึ้นราคา หรือแคมเปญตรึงราคาสินค้า

จากผลสำรวจในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 พบว่า แนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มสูงสุดที่ 67% โดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯและปริมณฑลเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 อีกทั้งแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายของคนไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงมองหาแต่ของใช้ที่จำเป็นหรืออาหารเพื่อดำรงชีพอีกต่อไป แต่ผู้บริโภคเริ่มมองหาการซื้อความสุขให้ตนเอง เพิ่มโอกาสในการออกไปท่องเที่ยว เข้าสังคม สังสรรค์ ทานอาหารนอกบ้าน ออกไปใช้ชีวิตเต็มที่ เติมความสุขให้ตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 20-29 ที่ซบเซามานาน


คุณพร้อมพร สุภัทรวนิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านวิจัยการตลาดและกลยุทธ์ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ได้ให้คำแนะนำในสถานการณ์นี้ว่า
- แบรนด์ควรทำแคมเปญสนับสนุน “Best Version of Me” เพื่อความสุขของตัวเองและครอบครัว
เมื่อความอยากช้อปพีคสุด พร้อมความสุขที่เพิ่มขึั้น แบรนด์ควรสร้างโอกาสแห่งการช้อปอย่างเต็มที่ ไม่ว่าเป็นการพัฒนาภาพลักษณ์ภายนอก ทั้งเสื้อผ้า หน้า ผม หรือการ upskill ด้านต่างๆ เช่น การเรียน การซื้ออุปกรณ์เพื่อเสริมการทำงาน หรือ แคมเปญฉลองการ ‘กลับไปใช้ชีวิตนอกบ้าน’ ในช่วงเทศกาลวันแม่ วันเกิด หรือวันหยุดยาวเพิ่มโอกาสในการออกไปท่องเที่ยว ออกไปทำงาน ออกไปเรียน เพื่อเติมความสุขให้ตนเองและครอบครัว
- แสดงจุดยืน ความโปร่งใส จริงใจต่อผู้บริโภค ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
ในสถานการณ์ที่ข้าวยากหมากแพง ผู้คนก็ยังคงต้องซื้อของกินของใช้ มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น แบรนด์ควรแสดงจุดยืนผ่านการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา เช่น อธิบายเหตุและผลต่อผู้บริโภคอย่างชัดเจนถ้าหากร้าน แบรนด์ มีความจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้า หรือ หาทางช่วยผู้บริโภคด้วยการตรึงราคาสินค้าเท่าที่ไหว
‘งานคือเงิน เงินคืองาน’ สิ่งที่คนไทยให้ความสำคัญที่สุดในช่วงนี้ คือ เรื่องงานและเงิน เพราะเน้นสร้างความมั่นคง มีเงินใช้จ่ายได้เต็มที่ สร้างความสุขให้ตัวเลขและครอบครัว


คุณชุลิกา สายศิลา ผู้จัดการด้านการวางแผนกลยุทธ์ บริษัท สไปซี่ ฮาคูโฮโด จำกัด กล่าวเสริมว่า ‘ผู้คนเริ่มมีความสุขกับปัจจุบันและมั่นคงกับสถานะความสุขของตนเอง พร้อมออกไปใช้ชีวิตอย่างปกติ และเพิ่มโอกาสให้ตนเองและครอบครัวมีความสุขกับปัจจุบัน โดยไม่ต้องคอยกังวล เพื่อที่จะทดแทนความสุขที่ขาดหายไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การที่ผลสำรวจออกมาว่าระดับความสุขของคนไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสัญญาณบวกที่ดีทั้งในด้านเศรษฐกิจและบรรยากาศในการใช้ชีวิต พ่อค้าแม่ค้าก็จะกลับมามีรายได้ที่คึกคักขึ้นรวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ซบเซามาอย่างยาวนานก็จะกลับมาเฟื่องฟู’


คุณชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวเสริมท้าย ถึงเรื่องความสนใจของคนในสังคมไว้ว่า ‘ตอนนี้คนไทยพร้อม Restart ชีวิต! อยากหาคำตอบให้สิ่งที่ยังค้างคาในสังคมพร้อมมองไปข้างหน้าสู่ชีวิตที่สดใสขึ้น’
ความสนใจข่าวที่เกี่ยวข้องกับโควิดฯ ซาลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลง และเริ่มต้นกับสิ่งใหม่ๆ เพื่อกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง เช่น กระแสผู้ว่าฯ คนใหม่ ข่าวเกี่ยวกับปากท้อง เงินเฟ้อ และสภาวะเศรษฐกิจ
ต่อไปนี้คนไทยจะไม่ติดตามเนื้อหาแค่เพียงผิวเผิน แต่อยากที่จะขุดคุ้ยสิ่งรอบตัวในเชิงลึกมากขึ้น และต้องการคำตอบที่ชัดเจนเพื่อเดินหน้าต่อไป อาทิ ทำไมราคาน้ำมันแพง ทำไมราคาข้าวของแต่ละอย่างจึงประกาศขึ้นราคา ข่าวเกี่ยวกับปากท้อง เงินเฟ้อ และสภาวะเศรษฐกิจ


เกี่ยวกับสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย)
สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND) ทำการศึกษาเกี่ยวกับ “การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย” ทุกๆ สองเดือน โดยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 เป็นผลสำรวจจากการรวบรวมข้อมูลจากวันที่ 20 ถึง 28 มิถุนายน พ.ศ. 2565 โดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับแนวโน้มและพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยในอนาคต ผ่านการทำแบบสอบถามเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จากประชากรเพศชายและหญิงจำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาค ทั่วประเทศ
Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN คือศูนย์วิจัยแห่งใหม่ของกลุ่มฮาคูโฮโดในภูมิภาคอาเซียน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2014 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ภายในประเทศสมาชิกภูมิภาคอาเซียนในเรื่องของข้อมูลการตลาด รวมทั้งสังเกตไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยการวิจัยของฮาคูโฮโดจะเป็นการวิจัยที่มุ่งเน้นการศึกษา Sei-katsu-sha หรือ ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม (Life Living Person) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาของฮาคูโฮโด ที่ไม่เพียงแค่อธิบายผู้คนในฐานะผู้บริโภคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่อธิบายถึงความเป็นมนุษย์ที่มีชีวิต จิตใจ ไลฟ์สไตล์ แรงบันดาลใจ และความฝันที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล