ปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่ หรือ Great Resignation ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ เริ่มต้นจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีแต่จะรุนแรงขึ้นอีกในปี 2565 โดยในขณะนี้มีการลาออกจากงานในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่ง (37%) เป็นพนักงานที่ทำงานปัจจุบันยังไม่เกิน 2 ปี และมีพนักงานมากถึง 81% ที่กำลังมองหาความก้าวหน้าในอาชีพการงานใหม่ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
ไมเคิล เพจ ประเทศไทย (Michael Page Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางาน ได้เปิดตัว ‘รายงานทาเลนท์ เทรนด์ 2022’ (Talent Trends 2022) ในหัวข้อ ‘เดอะ เกรท เอ็กซ์’ (The Great X) ซึ่งนำเสนอข้อมูลเชิงลึกด้านการจ้างงานที่มีความโดดเด่น
แม้เงินเดือนและโบนัสยังคงเป็นแรงจูงใจอันดับต้น ๆ ของผู้สมัครงาน แต่ผลสำรวจความคิดเห็นแสดงให้เห็นว่า
ผู้คนเริ่มหันเหความสนใจไปยังผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงินมากขึ้น โดย 69% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทยยอมไม่ขึ้นเงินเดือนและ/หรือไม่เลื่อนตำแหน่ง เพื่อแลกกับสมดุลในชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น ความเป็นอยู่โดยรวมที่ดีขึ้น และความสุขในชีวิต
คุณคริสตอฟเฟอร์ พาลูแดน ( Kristoffer Paludan) ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค บริษัทไมเคิล เพจ ประเทศไทย กล่าวว่า “บริษัทต่าง ๆ ที่กำลังเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอาจพบกับช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ยากลำบาก อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนในระยะยาวนั้นคุ้มค่า การโอบรับเครื่องมือดิจิทัลมาใช้ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในยุคที่การทำงานทางไกลกลายเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ บริษัทที่นำเอาระบบดิจิทัลมาใช้จะมีความได้เปรียบในการสรรหาบุคลากร เนื่องจากการจ้างงานจะไม่ถูกจำกัดโดยสภาพภูมิศาสตร์อีกต่อไป”
เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น บริษัทต่าง ๆ คงไม่อาจมองข้ามผลกระทบทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นจากการรวม “งาน” เข้ากับ “ชีวิตส่วนตัว” ตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมาได้อีกต่อไป ซึ่ง 82% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการทำงานในรูปแบบผสมผสานทั้งจากการทำงานที่บ้านและที่ทำงาน
นอกจากนี้ 61% ของพนักงานผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยเคยถามหรือคิดที่จะถามเกี่ยวกับนโยบายด้าน DE&I (ความหลากหลาย ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วม) ของบริษัทในการสัมภาษณ์ ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจ 33% จะล้มเลิกความตั้งใจคว้าโอกาสในการทำงาน หากบริษัทแห่งนั้นไม่ใส่ใจเรื่องนโยบาย DE&I
การระบาดของเชื้อโควิด-19 ครั้งใหญ่ได้เปลี่ยนลำดับความสำคัญไปเช่นกัน โดย 70% ของผู้สมัครงานเชื่อว่าสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีควรมีบทบาทในการทำงานและการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ซึ่งบริษัทจะต้องสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกที่พนักงานทุกระดับรู้สึกพึงพอใจร่วมกัน
ปัจจุบันมีพนักงานจำนวนมากที่ไม่รู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนจากที่ทำงาน โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 52% กล่าวว่า ภาระงานที่ได้รับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 86% เชื่อว่าบริษัทของพวกเขาไม่ได้ดำเนินการในการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานอย่างจริงจัง จากข้อมูลข้างต้น บริษัทจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ และช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น