ในวงการสื่อมวลชนปี 2024 มีความท้าทายหลากหลายด้านที่ผู้สื่อข่าวต้องเผชิญ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นคือความกังวลเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ และความเชื่อมั่นในวงการสื่อมวลชน โดยประมาณหนึ่งในสามของผู้สื่อข่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้
ปีแห่งการเลิกจ้าง หรือ ปีแห่งอิสระ ของสื่อมวลชน
เทรนด์การจ้างงานในวงการนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลง โดยมากกว่าหนึ่งในสามรายงานถึงการปลดพนักงานหรือจ้างออก นอกจากนี้ ยังมีผู้สื่อข่าวหลายคนที่มองหาโอกาสการทำงานผ่าน LinkedIn
งานโหด แต่เงินหด
เรื่องของชั่วโมงการทำงานและค่าตอบแทนก็เป็นประเด็นสำคัญ โดยมีผู้สื่อข่าวถึง 64% ทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่มีเพียง 46% เท่านั้นที่มีรายได้เกิน 70,000 ดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อปี) สะท้อนให้ช่องว่างระหว่างเนื้องานกับค่าตอบแทน
สื่อสังคมออนไลน์ Linkedin มาแรง ตีคู่ไปกับการใช้ AI
ในด้านการผลิตเนื้อหา ผู้สื่อข่าวเกือบหนึ่งในสี่ผลิตเรื่องราวมากกว่า 11 เรื่องต่อสัปดาห์ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนไปสู่สื่อดิจิทัล แต่ผู้สื่อข่าวประมาณหนึ่งในสี่ยังคงเผยแพร่ผ่านสื่อดั้งเดิม
การใช้ AI และสื่อโซเชียลเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างและโปรโมทงาน โดยมีผู้สื่อข่าว 28% ใช้ AI สร้างสรรค์ และมากกว่า 70% มองว่าสื่อโซเชียลมีความสำคัญในการโปรโมทงานของพวกเขา
- ผู้สื่อข่าว ส่วนใหญ่ยังคงใช้ X (Twitter) เป็นหลัก 36% รองลงมา Facebook 22% Linkedin 17% Instagram 12% และอื่นๆ โดยมีแนวโน้มหันมาใช้ Linkedin เพิ่มมากขึ้น ตามด้วย Instagram และ Youtube ในขณะที่ X มีแนวโน้มลดลง
- เมื่อกล่าวถึงการใช้ AI ผู้สื่อข่าวหันมาใช้ AI ในการผลิตชิ้นข่าวหรือรายงานข่าว และ 28% เริ่มใช้ Generative AI ในงานข่าวเพิ่มขึ้น
สื่อมวลชนเกือบครึ่งเมินนักพีอาร์ เหตุประเด็นไม่โดน
ในส่วนของความสัมพันธ์กับนักพีอาร์ พบว่า 46% ของผู้สื่อข่าวได้รับการติดต่อจากเหล่าพีอาร์เพื่อนำเสนอเนื้อหาหรือเชิญชวนให้สัมภาษณ์ประเด็นข่าวอย่างน้อย 6 ประเด็นต่อวัน ทว่า 49% ของผู้สื่อข่าว แทบจะหรือไม่เคยตอบรับเลย เพราะประเด็นที่นำเสนอมานั้นไม่เกี่ยวข้องเท่าไรนัก แต่ผู้สื่อข่าว 70% ยอมรับว่า นักพีอาร์มืออาชีพ มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการทำงานของสื่อมวลชน น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ที่ขาดกันไม่ได้
สิ่งที่สื่อมวลชนต้องการจากนักพีอาร์
ผลสำรวจผู้สื่อข่าวมากกว่า 1,000 ราย วอนขอให้นักพีอาร์ รับทราบตามนี้นะจ๊ะ
- 83% ขอนักพีอาร์ อย่าส่งอีเมลเชิญหว่าน เขียนให้เหมือนส่งแบบ 1-1 ไม่ควรส่งแบบ CC สื่อมวลชนหลายสำนัก
- 22% ผู้สื่อข่าวจะรักมาก หากบอกประเด็นเด็ด (Pitching) มาตั้งแต่ “วันจันทร์” และ 64% บอกว่าจะส่งเชิญหรือส่งประเด็นมาวันไหนก็ได้
- 44% ย้ำว่า จะส่งประเด็น หมายเชิญใด (Pitching) ขอให้มาถึง “ก่อนเที่ยง” จะดีมาก
- 65% บอกว่า อย่าเยิ่นเย้อ เวิ้นเว่อ เวลาส่งหมายหรือประเด็นข่าวมาให้ (Pitching) อย่าเขียนเกิน 200 คำ หรือประมาณครึ่งหน้า A4
- 51% จะรักมาก หากนักพีอาร์ Follow up ภายในวันนั้นหรือ 1 วันหลังจากส่งหมายหรือประเด็นมา (Pitching) และ 48% บอกว่า ไม่ต้องรีบ ค่อย Follow up หลังจากส่งมาอย่างน้อย 3-7 วัน
ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นสภาพปัจจุบันของวงการสื่อมวลชน ที่นักพีอาร์ต้องรับรู้และทำความเข้าใจถึงแรงกดดัน การทำงาน และความต้องการของผู้สื่อข่าว เพื่อให้สามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างดีที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจากการสำรวจของ MUCK RACK : State of Journalism 2024 รวบรวมข้อมูลจากผู้สื่อข่าว 1,106 รายจากทั่วโลก (อเมริกาเหนือ 60% เอเชียและแอฟริกา 10% อังกฤษ 9% ยุโรป 7% โอเขียเนีย 3% และอเมริกาใต้ 1%) ระหว่างวันที่ 3-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 โดยส่วนใหญ่มีอายุการทำงานมากกว่า 10 ปี 53% อายุส่วนใหญ่มากกว่า 30 ปี 77% ส่วนใหญ่รายงานข่าวแบบดิจิทัล (Digital news) 40%
คลิกดาวน์โหลดสรุปผลสำรวจได้ ที่นี่
เรียบเรียงโดย
สราวุธ บูรพาพัธ
สราวุธ เป็นที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง มีประสบการณ์ด้านการสื่อสารในธุรกิจพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจความงาม ธุรกิจบริการ และศูนย์การเรียนรู้ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติกว่า 20 ปี มีความเชี่ยวชาญในการวางแผนการสื่อสารแบบองค์รวม เพื่อสนับสนุนแผนการตลาดหรือสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร รวมทั้ง บริหารจัดการสื่อสารภาวะวิกฤต
จบการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย