จัดอันดับกี่ครั้ง อาชีพ พีอาร์ ก็ติดโผตลอด ปีนี้ขึ้นมาอยู่ในกลุ่มอาชีพสุดเครียดเช่นเดิมในอันดับ 5 ประจำปี 2024 เผยแพร่ใน The Medium และ BusinessNewsDaily เหตุเพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา ถูกจับจ้องจากสายตาสาธารณชน มีการแข่งขันสูงขึ้น ต้องอาศัยแรงกายและแรงใจในการขับเคลื่อนการทำงานและกลยุทธ์สื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบันวิกฤตเกิดขึ้นง่ายด้วยเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ประเด็นข้อเรียกร้องสิทธิส่วนบุคคลและกฎหมายเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อกระบวนการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น
10 เหตุผลที่ส่งผลต่อความเครียด ดัน พีอาร์ หรือ นักประชาสัมพันธ์ ขึ้นแท่นอาชีพสุดเครียด TOP9 ปี 2024
ประเด็นความเสี่ยงทางด้านอาชีพ อาทิ การทำงานในที่สูง หรือสถานที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัย ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญ แต่ปัจจุบัน โลกมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้รูปแบบการทำงานบางลักษณะที่จำเป็นต้องอยู่ท่ามกลางผู้คน หรือ ประสานงานกับคนหลากหลาย สร้างความเครียดและจำเป็นต้องใช้พลังกายและใจจำนวนมาก ส่งผลให้หลายคนอาจนั่งกัดเล็บ จิกเล็บ ขณะทำงานเพิ่มขึ้นก็ได้
เหตุผลเพิ่มเติมบางประการที่ทำให้บางงานอาจมีความเครียดมากกว่างานอื่นๆ:
- งานมีข้อจำกัดด้านเวลา (Dateline) ต้องเร่งทำงานภายใต้กรอบเวลาแต่ทรัพยากรมีเท่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นคน เงิน เครื่องมือ
- ทำงานท่ามกลางสายตาสาธารณะ (Working in the public eye)
- ศักยภาพในการแข่งขัน (Competitiveness) โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยการแข่งขันทั้งโลกออฟไลน์และออนไลน์ พีอาร์จึงต้องมีความพร้อมและความสามารถในการแข่งขันตลอด 24 ชั่วโมง
- ความพร้อมทางด้านร่างกาย (Physical demands) ร่างกายที่แข็งแรง สมบูรณ์ กลายเป็นสิ่งจำเป็นในโลกธุรกิจในยุคดิจิทัล เพราะไม่เพียงแต่จะต้องใช้ชีวิตในโลกปกติ เดิน วิ่ง สื่อสาร ยังต้องใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ สายตา สมอง สองมือ ต้องทำงานตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างทันท่วงที
- ความพร้อมทางด้านจิตใจ (Emotional demands) ความฉลาดทางอารมณ์ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ กลายเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการทำงานในโลกปัจจุบัน หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นสิ่งสำคัญส่วนหนึ่งใน ทักษะทางสังคมของพีอาร์
- สภาพแวดล้อม (Environmental conditions) สถานที่ทำงานมีความเสี่ยงต่อภยันตรายหรือเอื้อต่อการทำงานอย่างปลอดภัย ล้วนมีอิทธิพลต่อความเครียดของพีอาร์ ทำให้หลายองค์กรปัจจุบันพยายามปรับปรุงสถานที่ทำงานให้เอื้อต่อการทำงาน สุขอนามัย และจิตใจของบุคลากรเพิ่มมากขึ้น
- ต้องพบเจอเรื่องราวหรือสิ่งที่ทำให้เกิดอันตราย (Hazards encountered) แม้ชีวิตพีอาร์ จะไม่ต้องทำงานที่เจอความเสี่ยงต่ออันตรายอย่างอาชีพตำรวจ ทหาร หรือนักดับเพลิง แต่โลกปัจจุบัน อันตรายที่พีอาร์จะต้องเจอแน่ๆ คือ วิกฤต หรือ ประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง ชีวิต ทรัพย์สิน ความเป็นอยู่ อันอาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากไม่มีการเตรียมความพร้อมไว้เป็นอย่างดี
- เสี่ยงต่อชีวิตของตนเอง (Risk to one’s own life) หลายอาชีพอาจไม่มีโอกาสพบเจอในงานของตนเอง หลายคนคงนึกไม่ออกในอาชีพของตนเองนั้น จะเจอความเสี่ยงอะไร แต่ที่แน่ๆ พีอาร์มีโอกาสเจอแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดวิกฤต ประเภทการประท้วง หรือต้องประสบกับเหตุการณ์ที่อยู่ท่ามกลางความไม่พึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายกับองค์กร พีอาร์ จะเป็นผู้มีบทบาทหลักในการบริหารจัดการความคาดหวัง ความไม่สบอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งอาจนำมาซึ่งอันตรายของแต่ละคนได้
- เสี่ยงต่อชีวิตของบุคคลอื่น (Risk to the life of another person) เป็นเรื่องที่โชคดี พีอาร์ อาจมีโอกาสน้อยนิดที่จะทำให้ผู้อื่นเสี่ยงชีวิต ไม่เหมือนกับอาชีพอื่นๆ อย่าง กัปตันเครื่องบิน หรือ พนักงานขับรถ ที่อาจทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนได้หากไม่มีสติในอาชีพการงาน
- เผชิญหน้ากับสาธารณชน (Meeting the public) เป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่ได้สำหรับงานพีอาร์ จำเป็นต้องพบเจอกับสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชน ผู้บริโภค หรือกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ทำให้ต้องบริหารความคาดหวังและความต้องการของแต่ละกลุ่ม เพื่อสร้างรู้ ความเข้าใจ พึงใจ รวมไปถึงโน้มน้าวในด้านพฤติกรรม เป็นเหตุให้พีอาร์หลายคนจึงเต็มไปด้วยความเครียดในการทำงาน
แต่ละอาชีพมีชุดความเครียดที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกอาชีพต้องการเหมือนกัน คือ ความยืดหยุ่น การคิดตอบสนองอย่างรวดเร็ว และความมั่นคง ทำให้ผู้ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพเหล่านี้ ไม่เพียงเพราะทักษะของตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะมีความสามารถพิเศษในการจัดการกับความเครียดและควบคุมสติได้ในเวลาที่สำคัญที่สุด
หลายครั้ง เราอาจคาดหวังว่า ยิ่งอาชีพเครียดสูงควรได้รับค่าตอบแทนสูงตามไปด้วย ทั้งในแง่เงินเดือน โบนัส สวัสดิการต่างๆ แต่ชีวิตจริง อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น หลายอาชีพมีความเครียดสูง แต่ได้ค่าจ้างน้อย แถมไม่ได้รับความเคารพ ส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้า ท้อใจ นำไปสู่การลาออกในอัตราที่สูงในที่สุด ลองอ่านข้อมูลเรื่องการจ้างงานและฐานเงินเดือนนักประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมคลิกที่นี่
พีอาร์ เครียดอันดับ 5 ปี 2024
1. บุคลากรบริการฉุกเฉิน (Emergency Services Personnel)
นักดับเพลิง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และ ช่างเทคนิคการแพทย์ฉุกเฉิน: กลุ่มบุคคลนี้ จะอยู่ในที่เกิดเหตุเป็นคนแรกเมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือที่เรียกว่าหน่วยฉุกเฉิน ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีอันตรายขนาดไหน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือจิตใจมากขนาดไหน มีการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บหรือไม่ เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ จึงทำให้บุคคลกลุ่มนี้ เกิดความเครียดสูง เพราะต้องตัดสินใจในเสี้ยววินาที เพื่อช่วยชีวิตผู้อื่นและเสี่ยงชีวิตตนเอง
2. บุคลากรด้านการแพทย์ (Healthcare Professionals)
ศัลยแพทย์และพยาบาล: ถือได้ว่าเป็นบุคลากรแนวหน้าด้านสุขภาพ ศัลยแพทย์แบกภาระชีวิตคนไข้ไว้ในมือ หลายครั้งใช้ระยะเวลายาวนานหลายชั่วโมงติดต่อกัน พยาบาลต้องรับมือกับความกดดันอย่างต่อเนื่องในการดูแลผู้ป่วย การตัดสินใจที่สำคัญ และการจัดการอารมณ์ของครอบครัวคนไข้ ที่สำคัญ กลุ่มบุคคลนี้ต้องทำงานเป็นกะหมุนเวียน เท่ากับเพิ่มความเครียดไปอีกเพราะผลกระทบจากสุขภาพที่พักผ่อนไม่เพียงพอ รวมทั้ง ต้องแบกภาระในการบอกข่าวร้ายต่างๆ เกี่ยวกับสุขภาพให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวของคนไข้
3. กัปตันเครื่องบินและผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ (Airline Pilots and Air Traffic Controllers)
นักบินและผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ: ทั้งสองต่างมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารหลายพันคนทุกวัน นักบินจะต้องรักษาความสงบภายใต้ความกดดัน ควบคุมการบินที่ซับซ้อน และตัดสินใจในการช่วยชีวิต ในทางกลับกัน ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ ต้องคอยควบคุมเที่ยวบินหลายเที่ยว และรับประกันการบินขึ้น ลงจอด และเส้นทางในอากาศอย่างปลอดภัย นักบินบางครั้งต้องบินแต่เช้าตรู่และเที่ยวดึก บินหลายชั่วโมงที่ยาวนาน และอาจมีอาการเจ็ตแล็กอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากลักษณะของรูปแบบกะและตารางการบินของสายการบิน
4. บุคลากรทางทหาร (Military Personnel)
ทหารและเจ้าหน้าที่ทหาร: สมาชิกของกองทัพเผชิญกับความเครียดที่เกิดขึ้นในอาชีพ รวมถึงการสู้รบ การต้องจากลาบ้านเป็นเวลานาน และต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วในสถานการณ์ที่คุกคามถึงชีวิต ความเครียดทางจิตใจและอารมณ์นั้นรุนแรงมาก และมักจะดำเนินต่อไปอีกนานหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการให้บริการ
5. พีอาร์ หรือ นักประชาสัมพันธ์ (Public Relations Executives)
นักประชาสัมพันธ์และซีอีโอ: ในโลกที่ขับเคลื่อนโดยสื่อ การรักษาภาพลักษณ์ที่ดีต่อสาธารณะถือเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเหตุให้นักประชาสัมพันธ์อยู่ภายใต้ความกดดันอย่างต่อเนื่องในการรับมือกับวิกฤติ จัดการชื่อเสียงของบริษัท และโต้ตอบกับลูกค้า ไปจนถึงนักข่าวและสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่มีความต้องการสูง ความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจนำไปสู่หายนะได้ เช่นเดียวกับ CEO ได้รับมอบหมายให้สื่อสารข่าวเชิงลบแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรในพื้นที่สาธารณะ
6. ผู้ประสานงานจัดกิจกรรม (Event Coordinators)
นักวางแผนงานอีเว้นท์: ความเครียดของคนกลุ่มนี้ เกิดจากความจำเป็นที่จะต้องเก็บทุกรายละเอียดให้สมบูรณ์แบบ ประสานงานกับซัพพลายเออร์ และดำเนินงานตามกำหนดเวลาที่เข้มงวด ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของงานขึ้นอยู่กับความสามารถในการประสานงานทุกด้านอย่างไม่มีที่ติ แม้ว่าอาชีพนี้จะมีความสำคัญน้อยกว่าอาชีพอื่นๆ ใน 9 อันดับนี้ แต่ธรรมชาติของงาน จะเน้นไปที่การจัดการความคาดหวังที่สูงของลูกค้า และส่งมอบงานตามที่สัญญาไว้
7. ทนายและผู้พิพากษา (Lawyers and Judges)
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย: ทนายความและผู้พิพากษาต้องรับมือกับความเสี่ยงสูง เวลาที่จำกัด และความซับซ้อนของกฎหมาย รวมทั้ง มักจะต้องเจอกับประเด็นทางจริยธรรมที่ซับซ้อน ความกดดันในการชนะคดี และในบางกรณี ชี้วัดชะตาชีวิตของบุคคล ทนายความสามารถจัดการคดีต่างๆ ได้หลายคดีในคราวเดียว และต้องเผชิญหน้าศาลหลายครั้งต่อวัน การบริหารจัดการข้อมูลให้ตรงประเด็น และแสวงหาข้อมูลอย่างถูกต้องมาสนับสนุนลูกความ ส่งผลต่อความเครียดได้ในระดับสูง
8. นักการศึกษา (Educators)
ครูและอาจารย์: การสร้างคนหนึ่งให้เติบโตได้อย่างเต็มความรู้และจริยธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย นักการศึกษาไม่เพียงแต่ให้ความรู้เท่านั้น แต่ยังจัดการกับความต้องการที่หลากหลายของนักเรียน ความคาดหวังของผู้ปกครอง และความต้องการด้านการบริหารของระบบการศึกษาอีกด้วย ในขณะที่ได้รับค่าตอบแทนที่แสนจะน้อยนิด
9. ผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน (Finance Professionals)
โบรกเกอร์และที่ปรึกษาทางการเงิน: ตลาดหุ้นและการลงทุน ยากต่อการคาดเดา ซึ่งต้องใช้ความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ สุขภาพทางการเงินของธุรกิจ การประเมินที่แม่นยำ เข้าใจตลาดธุรกิจและอุตสาหกรรมบางประเภท และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินต้องรับมือกับสภาพแวดล้อมที่ผันผวนนี้ และตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก และให้คำแนะนำที่อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อชีวิตของลูกค้า เงินจำนวนมหาศาลของลูกค้า และความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจทำให้เกิดการสูญเสียทางการเงินอย่างมหาศาลก็ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก The Medium และ BusinessNewsDaily
เรียบเรียงโดย
สราวุธ บูรพาพัธ
สราวุธ เป็นที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง มีประสบการณ์ด้านการสื่อสารในธุรกิจพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจความงาม ธุรกิจบริการ และศูนย์การเรียนรู้ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติกว่า 20 ปี มีความเชี่ยวชาญในการวางแผนการสื่อสารแบบองค์รวม เพื่อสนับสนุนแผนการตลาดหรือสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร รวมทั้ง บริหารจัดการสื่อสารภาวะวิกฤต
จบการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย