กระทรวงการต่างประเทศและมูลนิธิไทย ร่วมกันจัดพิธีมอบรางวัลการทูตสาธารณะ 2565 หรือ Public Diplomacy Award เป็นปีแรก โดยมี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิไทย ร่วมเป็นประธานในงานฯ ผู้ที่ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะคนแรกของประเทศไทย ได้แก่ นายแพทย์สุนทร อันตรเสน แพทย์เฉพาะทางแผนกหู คอ จมูก โรงพยาบาลราชวิถี ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาโรงพยาบาลราชวิถี และกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี รวมทั้งเป็นประธานคณะกรรมการเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของหมอหู คอ จมูก ทั่วประเทศ
สำหรับบทบาทหรือภารกิจที่ทำให้นายแพทย์สุนทร ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะ ก็คือ การจัดตั้งหน่วยแพทย์อาสา เดินทางไปรักษาผู้ป่วยโรคหูน้ำหนวกในประเทศต่างๆ กว่า 30 ปี รักษาผู้ป่วยไปแล้วกว่า 7 หมื่นราย อีกทั้งยังสร้างบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งความทุ่มเทในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ในประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ย่อมได้นำความปรารถนาดีจากคนไทยไปยังแห่งหนที่ท่านเดินทางไปเสมอ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักและได้รับความชื่นชมไปด้วย
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า “รางวัลการทูตสาธารณะ เป็นรางวัลที่กระทรวงการต่างประเทศและมูลนิธิไทย ตั้งขึ้นเพื่อมอบให้กับบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรที่ได้สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศไทย ในด้านการสร้างมิตรภาพ ความเข้าใจอันดีหรือความนิยมไทยในระดับประชาชนในต่างประเทศ ส่งเสริมให้ชาวต่างประเทศได้รู้จัก ชื่นชอบและนิยมไทยมากยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์หลักของรางวัล เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ และสนับสนุนบทบาทเหล่านั้นของผู้ที่ได้รับรางวัลให้เป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของผู้ได้รับรางวัล ให้ดำเนินต่อไปด้วยดี อีกทั้งยังหวังว่ารางวัลนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยทุกคนได้รับรู้ว่า งานด้านการทูตสาธารณะ ไม่ได้ทำได้เฉพาะกระทรวงการต่างประเทศหรือมูลนิธิไทยเท่านั้น แต่คนไทยทุกคนสามารถทำได้เช่นกัน”
นายแพทย์สุนทร อันตรเสน ผู้จัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาไปรักษาผู้ป่วยโรคหูน้ำหนวกในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของไทย ตลอดระยะเวลามากกว่า 30 ปี อาทิ ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา จีนตอนใต้ อินเดีย เคนย่า บังคลาเทศ ภูฏาน ติมอร์ตะวันออก รวมแล้วมากกว่า 80 เมือง ใน 10 ประเทศ และรักษาผู้ป่วยไปแล้วกว่า 70,000 ราย
“ผมเริ่มสนใจเรื่องหน่วยแพทย์อาสา ตั้งแต่ตอนที่ไปอยู่โรงพยาบาลต่างจังหวัด สมัยนั้นมีแต่โรงพยาบาลจังหวัด ไม่มีโรงพยาบาลอำเภอ คนไข้จึงหาหมอยาก แล้วตอนที่ผมกลับมาจากศึกษาต่อที่ต่างประเทศ เมืองไทยมีหมอเฉพาะทางโรคหูแค่ 10 กว่าคน ถือว่าน้อยมาก แล้วคนก็เป็นโรคหูน้ำหนวกกันเยอะ ผมเลยชวนเพื่อนๆ ตั้งกลุ่มแพทย์อาสากลุ่มเล็กๆ เริ่มจากใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว ไปรักษาคนไข้ตามต่างจังหวัดประมาณ 10 กว่าปี หลังจากานั้นก็เริ่มเดินทางไปรักษาโรคนี้ให้กับผู้ป่วยในต่างประเทศ เริ่มจากเมืองคุนหมิง ประเทศจีน ต่อมาก็ที่พม่า กัมพูชา แล้วก็ติดพันยาวนานมากกว่า 30 ปี โดยระยะหลังจะเน้นที่ประเทศเพื่อนบ้านติดชายแดนไทย เพราะน่าจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย”
นายแพทย์สุนทร ผู้ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะ
ตลอดระยะเวลามากกว่า 30 ปี กับการเดินทางกว่า 80 เมือง 10 ประเทศ ย่อมต้องเกิดอุปสรรคบ้าง นายแพทย์สุนทรเล่าว่า อุปสรรคมีทุกรูปแบบ ตั้งแต่ขั้นตอนยุ่งยากในการขออนุญาตนำเครื่องมือแพทย์และยารักษาข้ามประเทศ เพราะยาบางตัวจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติด เช่น มอร์ฟีน จึงต้องมีเอกสารและการอธิบายที่ค่อนข้างยุ่งยาก โดยทุกครั้งก่อนออกหน่วยแพทย์อาสา คุณหมอและภรรยาจะเดินทางไปสำรวจล่วงหน้า เพื่อประสานงานทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องที่พัก ห้องผ่าตัด อาหาร ห้องน้ำ ไปจนถึงติดต่อล่ามแปลภาษา ซึ่งในประเทศต่างๆ จะออกประกาศผ่านวิทยุและหนังสือพิมพ์ล่วงหน้าประมาณหนึ่งเดือนว่า จะมีหน่วยแพทย์อาสารักษาโรคหูโดยเฉพาะโรคหูน้ำหนวกจากประเทศไทยมารักษาให้ฟรี เมื่อถึงวันรักษาจริงก็จะมีคนไข้มาเข้าแถวรอยาวเหยียด บางวันก็ตรวจรักษาผู้ป่วยเป็น 1,000 คน ยืนผ่าตัดตั้งแต่เช้ายันเย็น คนป่วยยืนรอจนเป็นลม หรือต้องเดินเท้าข้ามภูเขามาสองสามลูก็มี หรือบางครั้งระหว่างเดินทางก็เกิดอุบัติเหตุ รถเสีย รถชน เจอดินถล่ม น้ำท่วม หรือหมอเจ็บป่วยต้องนอนให้น้ำเกลือก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
“โรคหูน้ำหนวก เกิดจากการเป็นหวัดเรื้อรัง ถ้าท่อระหว่างหูกับคออุดตัน จะทำให้หูชั้นกลางมีน้ำขัง น้ำที่ขังจะดันแก้วหูทะลุออกมากลายเป็นหูน้ำหนวก ถ้าเป็นหูน้ำหนวกชนิดร้ายแรง จะมีน้ำหนวกไหลตลอดเวลา มีกลิ่นเหม็นมากเพราะกระดูกเน่า ถ้าทะลุเข้าสมอง คนไข้ก็มักจะเสียชีวิตเหตุการณ์หนึ่งที่ประทับใจมากคือที่ภูฏาน เด็กผู้หญิงมาตรวจเพราะมีอาการหูตึง ไม่ค่อยได้ยินเสียง เก็บกดเพราะเพื่อนไม่ค่อยพูดคุยด้วย พอใส่เครื่องช่วยฟังให้ เขาได้ยินชัดขึ้น ก็ดีใจน้ำตาไหล เข้ามากอดทีมแพทย์ของเรา แล้วบอกว่าเขาเคยคิดฆ่าตัวตายเพราะโรคนี้ ถึงแม้จะเหนื่อยบ้าง แต่พอเห็นคนป่วยเขามีชีวิตที่ดีขึ้น เราก็หายเหนื่อยและลุยกันต่อ” นายแพทย์สุนทรเล่าถึงความประทับใจของงานแพทย์อาสาในต่างแดน
นายธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย หน่วยงานที่ร่วมจัดตั้งรางวัลการทูตสาธารณะ กล่าวสรุปถึงโครงการนี้ว่า “เมื่อคณะกรรมการมูลนิธิไทยได้ตัดสินใจร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศจัดตั้งรางวัลนี้ขึ้นมา ก็เปิดโอกาสให้สถานทูตไทยในต่างประเทศและสาธารณชนในประเทศ รวมถึงกระจายข่าวผ่านสื่อมวลชน ให้มีการเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับรางวัลนี้เข้ามา ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ซึ่งได้รับการเสนอชื่อทั้งหมด 9 ท่านด้วยกัน จากนั้นคณะอนุกรรมการคัดเลือกทั้ง 9 ท่าน ประกอบไปด้วยผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศ ผู้บริหารของมูลนิธิไทย ตัวแทนจากภาควิชาการ ภาคสื่อสารมวลชนและประชาคมต่างๆ ได้คัดเลือกเหลือ 3 ท่าน ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กันยายน คณะกรรมการมูลนิธิไทย ได้ร่วมกันตัดสิน ผู้ที่สมควรได้รับรางวัลในปีนี้ ซึ่งก็คือนายแพทย์สุนทร อันตรเสน นอกจากผลงานโดดเด่นในการช่วยเหลือผู้คนจำนวนมากตามที่ได้แถลงไว้ ท่านยังได้สร้างบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้งานอาสาของคุณหมอไม่หยุดชะงัก สานต่อไปได้เรื่อยๆ จึงถือว่าเหมาะสมกับรางวัลนี้อย่างยิ่ง”
ผู้ที่ได้รับรางวัลการทูตสาธารณะคนแรกของประเทศไทย ได้แก่ นายแพทย์สุนทร อันตรเสน จะได้รับโทรฟีหรือถ้วยรางวัล ที่มีชื่อว่า Goodwill หรือความปรารถนาดี และได้รับการสลักชื่อบนถ้วยรางวัลอันใหญ่ที่ตั้งโชว์ไว้ที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นชื่อแรก พร้อมเงิน 5 แสนบาท เป็นทุนทรัพย์ในการสานต่อภารกิจอันดีงามต่อไป นายแพทย์สุนทรตั้งใจว่า ปีหน้าจะออกหน่วยแพทย์อาสาอีกครั้งกับ 3 เมืองชายแดนของไทย ได้แก่ วิคตอเรียพอยด์ที่อยู่ตอนใต้ของพม่า สันติคีรีของกัมพูชา และชายแดนลาวด้านที่ติดกับจังหวัดอุตรดิตถ์ของไทย ติดตามรายละเอียดและภาพถ่ายภารกิจในอดีตของนายแพทย์สุนทรได้ที่ www.thailandfoundation.or.th และที่ Facebook.com/ThailandFoundation