คติความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาลนี้เป็นที่มาของการสร้างพระเมรุมาศในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ไทยองค์ก่อนๆ โดยพระเมรุมาศเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและมีอาคารรายล้อมเสมือนสิ่งต่างๆที่รายล้อมจักรวาล อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะระบุความหมายอย่างแน่ชัดในแบบแผนของพระเมรุมาศทั้งหมด เนื่องจากสิ่งก่อสร้างบางอย่างก็สร้างขึ้นตามประโยชน์ใช้สอย อาทิ พระที่นั่งทรงธรรม ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เมื่อเสด็จไปงานถวายพระเพลิง
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยจัดขึ้น ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 25 – 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 และวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นวันถวายพระเพลิง
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ เริ่มเตรียมการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เรื่อยมา มีการสร้างพระเมรุมาศ และอาคารประกอบ การบูรณปฏิสังขรณ์พระมหาพิชัยราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระราชพิธี รวมถึงการเตรียมงานมหรสพในงานออกพระเมรุมาศ

การสร้างพระเมรุมาศ
การสร้างพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพคือการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ทรงถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงได้บรรยายไว้ว่า จักรวาลมีลักษณะเป็นวงกลม มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล บนเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีไพชยนต์ปราสาทอยู่กลางเมือง เขาพระสุเมรุล้อมรอบด้วยทะเล 7 ชั้น เรียกว่า “ทะเลสีทันดร” สลับด้วยภูเขา 7 ลูก เรียกว่า “สัตตบริภัณฑ์” ส่วนเชิงเขาพระสุเมรุนั้นเป็นที่ตั้งของป่าหิมพานต์และสระอโนดาด ถัดออกมาเป็นทวีปทั้ง 4 และมหาสมุทรทั้ง 4 ซึ่งมนุษย์เราอาศัยอยู่ในชมพูทวีปนั่นเอง

สระอโนดาต แปลว่า สระที่ไม่ถูกแสงส่องให้ร้อน เป็น 1 ใน 7 สระในป่าหิมพานต์
รอบสระอโนดาตมีเขารายล้อมอยู่ 5 เขา ได้แก่ ยอดเขาสุทัสสนะ ยอดเขาจิตตะ ยอดเขากาฬะ ยอดเขาคันธมาทน์ และยอดเขาไกรลาส ซึ่งเขาทั้ง 5 มีลักษณะโค้งงุ้มเหมือนปากกา ปิดด้านบนสระอโนดาตไว้ไม่ให้โดนแสงเดือนแสงตะวัน สระอโนดาตจึงไม่โดนแสงส่องให้ร้อน
สระอโนดาตเป็นที่สรงน้ำแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย รวมถึงผู้วิเศษ เช่น ฤๅษี วิทยาธร ยักษ์ นาค เทวดา เป็นต้น

ประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4
ตั้งอยู่บนฐานชาลาที่ 2 บริเวณมุมล้อมรอบองค์พระเมรุมาศ ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ เป็นเทวดาผู้ป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่มนุษย์โลกไว้ทั้ง ๔ ทิศ เสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสู่สวรรค์ ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่

มหาเทพ 4 องค์
ตั้งอยู่บนฐานชาลาชั้นที่ 3 เสด็จลงมาเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสู่สรวงสวรรค์

ตั้งอยู่บนลานอุตราวรรต บนแท่นรูปหัวสัตว์มงคลที่กำลังพ่นน้ำลงสู่สระอโนดาตเบื้องล่าง ข้างบันไดนาค 1 เศียร ทั้ง 4 ทิศ ที่ขึ้นสู่ฐานชาลาชั้นที่ 1 ของพระเมรุมาศ ทิศละ 1 คู่ เปรียบดั่งทางขึ้นเขาพระสุเมรุที่ล้อมรอบด้วยป่าหิมพานต์ และมีสัตว์หิมพานต์มากมาย ซึ่งอาศัยอยู่รอบสระอโนดาตทั้ง 4 ทิศ แต่ละทิศก็จะมีสัตว์หิมพานต์แต่ละประเภทอาศัยอยู่ ดังนี้
ทิศเหนือ: ช้าง อาศัยอยู่ปากแม่น้ำหัตถีมุข อันเป็นถิ่นที่ช้างอาศัยอยู่จำนวนมาก
ทิศใต้ : โค อาศัยอยู่ปากแม่น้ำอุสภมุข อันเป็นถิ่นที่โคอาศัยอยู่จำนวนมาก
ทิศตะวันออก : ราชสีห์ อาศัยอยู่ปากแม่น้ำสีหมุข อันเป็นถิ่นที่ราชสีห์อาศัยอยู่จำนวนมาก
ทิศตะวันตก : ม้า อาศัยอยู่ปากแม่น้ำอัสสมุข อันเป็นถิ่นที่ม้าอาศัยอยู่จำนวนมาก

ราวบันไดนาคประดับพระเมรุมาศ
ตามความเชื่อในคติพุทธ พญานาคเปรียบเป็นสัญลักษณ์ของสายน้ำ และเสมือนดั่งสะพานสายรุ้ง เชื่อมโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ โดยภพภูมิของพญานาคคือเทพกึ่งสัตว์ อันเป็นที่มาของประติมากรรมราวบันไดนาคประดับพระเมรุมาศพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งประติมากรรมบันไดนาค ทั้งหมด 4 แบบ อยู่บนพระเมรุมาศทั้ง 4 ชั้น โดยบันไดนาคในแต่ละชั้นมีลักษณะแตกต่างกันตามความสำคัญและระดับชั้นบารมีของนาค ซึ่งผู้ออกแบบสื่อให้เห็นถึงการลดละกิเลสสู่ความเป็นเทพในชั้นที่สูงขึ้น




ข้อมูลอ้างอิง : คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และหนังสือธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดงานพระบรมศพกรมศิลปากร และเว็บไซต์พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช