fbpx

รณรงค์หยุดท่องเที่ยวทำร้ายช้างใน ‘วันสัตว์โลก’

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดตัวงานรณรงค์การท่องเที่ยวแบบไม่ทำร้ายช้างเนื่องใน ‘วันสัตว์โลก’ ซึ่งตรงกับวันที่ 4 ตุลาคมของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกี่ยวกับความโหดร้ายทารุณที่แฝงอยู่ในกิจกรรมท่องเที่ยวที่มีการนำช้างมาใช้งาน เช่น โชว์ช้าง ขี่ช้าง

งานรณรงค์ดังกล่าวใช้ชื่อว่า ‘Behind the Show’ เป็นการเปิดเผยข้อมูลเบื้องหลังของการนำช้างมาใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งจากการศึกษาขององค์กรฯ พบว่าช้างต้องถูกแยกลูกแยกแม่ตั้งแต่เด็ก ผ่านกระบวนการฝึกที่โหดร้ายทารุณ สร้างความเจ็บปวดทั้งร่ายกายและจิตใจต่อช้าง อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ และถูกบังคับให้แสดงพฤติกรรมที่ไม่ใช่ธรรมชาติของช้าง เพียงเพื่อสร้างความบันเทิงให้มนุษย์

วันสัตว์โลก

นายฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “งานรณรงค์นี้มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความตระหนักรู้และความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติว่าการไปขี่ช้าง ดูโชว์ช้าง หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่มีการนำช้างมาใช้งานอย่างผิดธรรมชาติ ถือว่าเป็นการสนับสนุนความโหดร้ายทารุณต่อช้างโดยไม่รู้ตัว ในทางกลับกันกิจกรรมท่องเที่ยวช้างที่เหมาะสมและเป็นมิตรต่อช้างคือการดูช้างตามถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติต่างๆ หรือสนับสนุนเฉพาะ ‘ปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง’ เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ โดยปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างเหล่านี้จะให้ความสำคัญต่อสวัสดิภาพและอิสระของช้างเป็นสำคัญ นักท่องเที่ยวจะได้สังเกตและเรียนรู้พฤติกรรมตามธรรมชาติของช้างโดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปรบกวนพวกเขา”

ข้อความรณรงค์ดังกล่าวจะถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้างผ่านสื่อหลากหลายประเภท ทั้งบนสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ตลอดจนสื่อนอกบ้านอย่างห้างสรรพสินค้าและสนามบินทั่วประเทศ ตลอดเดือนตุลาคมนี้ เนื่องในโอกาส ‘วันสัตว์โลก’ ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นวันสากลที่กำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ป่าทั่วโลกให้ดีขึ้น เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของสัตว์ มนุษย์ และสิ่งแวดล้อมโดยรวม

ทั้งนี้ จากการศึกษาขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกพบว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการนำช้างมาใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปัจจุบัน มีช้างเลี้ยงอยู่ประมาณ 3,000 ชีวิต เพิ่มขึ้นราว 70% ในรอบสิบปี เนื่องจากมีการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยอมรับกิจกรรมที่มีความโหดร้ายทารุณต่อสัตว์แฝงอยู่ที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

นอกจากนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งพิจารณาผ่าน ‘ร่าง พ.ร.บ. ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคมเป็นกฎหมายและบังคับใช้โดยเร็วที่สุด หลังจากทางองค์กรฯ และผู้สนับสนุนได้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวถูกเสนอเข้าสู่กระบวนการรัฐสภาเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

“ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย ได้รับการเข้าชื่อสนับสนุนจากประชาชนคนไทยกว่า 20,000 รายชื่อ ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน สะท้อนให้เห็นว่าสังคมให้ความสำคัญต่อสวัสดิภาพช้างเป็นอย่างมาก และกำลังจับตามองทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างใกล้ชิด ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อยุติความโหดร้ายทารุณต่อช้างไทยและปฏิรูปการจัดการเพื่อยกระดับสวัสดิภาพช้างอย่างเร่งด่วน” นายฉัตรณรงค์กล่าวปิดท้าย

เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข, สัตว์ป่า – สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *