ในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลและข่าวสารสามารถเผยแพร่ไปทั่วโลกได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที การรักษาชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือขององค์กรเป็นเรื่องที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น หนึ่งในภัยคุกคามที่กำลังทวีความรุนแรงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน คือ การโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายทางการเงินและชื่อเสียงขององค์กรได้อย่างร้ายแรง
การโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูลคืออะไร?
การโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล หมายถึง การใช้กลยุทธ์ของข้อมูลเท็จ (Misinformation) และข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) เพื่อเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับองค์กร กิจกรรม กลุ่มบุคคล หรือบุคคล ซึ่งเมื่อการโจมตีเหล่านี้แพร่กระจายออกไปและได้รับความสนใจจากสาธารณะ (หรือที่เรียกว่า “ไวรัล”) จะกลายเป็นอันตราย นำมาซึ่งความเสียหายทางการเงิน ชื่อเสียง และผลกระทบทางสังคมอย่างมหาศาล
ใครอยู่ในความเสี่ยง?
ความจริงคือทุกคนอยู่ในความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นบริษัท หน่วยงานของรัฐ แบรนด์ บุคคล หรือกลุ่มบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะ การโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล ปี 2024 กลายเป็นความเสี่ยงที่สำคัญในหลายๆ อุตสาหกรรม ทั้งหน่วยงานของรัฐ บริการทางการเงิน แบรนด์ สุขภาพและยา และบันเทิง
ข้อพึงระวังด้านการสื่อสาร
4 ประการเกี่ยวกับการโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล ที่นักสื่อสารต้องพึงระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ :
- ไม่เห็นถึงรูปแบบการโจมตี: ทีมสื่อสารอาจมองไม่เห็นภาพรวมของการโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล ตั้งแต่จุดกำเนิดไปจนถึงการแพร่กระจายเรื่องราว ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจทางกลยุทธ์ในการบริหารจัดการ
- ใช้วิธีการเก่าๆ เดิมๆ: วิธีการแบบเก่าๆ เดิมๆ ด้วยการจับคำสำคัญ (keywords) หรือ การแสดงความรู้สึก (sentiments) อาจไม่เพียงพอแล้ว เพราะยุคปัจจุบันนี้มีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปในการสื่อสาร ทำให้หลายวิธีการเดิมๆ ไม่สามารถระบุความเสี่ยงและการโจมตีที่เกิดขึ้นได้
- ขาดความรู้ในการจัดการ: ทีมสื่อสารอาจไม่ทันต่อการโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูลช่วงแรกๆ ทำให้การสื่อสารภาวะวิกฤตและตอบสนองต่อสถานการณ์เป็นไปอย่างล่าช้า
- การตอบโต้กลับด้วยข่าวหรือข้อมูล: หลายครั้งทีมสื่อสาร ขาดข้อมูลในการบริหารจัดการประเด็นเพื่อลดทอนความรุนแรงของการโจมตีให้น้อยลง ทำให้ยากต่อการสร้างและฟื้นฟูความเชื่อมั่นไว้วางใจให้แก่แบรนด์
ผลกระทบของการโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล
ผลกระทบจากการโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล สามารถส่งผลกระทบได้อย่างไร้ขีดจำกัด โดยรูปแบบการโจมตีนั้น อาจได้รับการวางแผนเป็นอย่างดี หรือบางครั้งอาจเกิดจากคนดัง ศิลปินดารา หรือ คอมพิวเตอร์ (bots) สร้างปัญหา หรือ อาจเกิดจากอุบัติภัยที่เหนือความคาดหมาย หรือภาพหลุดที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วในโลกออนไลน์ ผลกระทบที่อาจตามมานั้นหลากหลายและรุนแรง รวมถึงอาจทำให้ผู้บริหารระดับสูงตกงาน ความเสียหายต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการบริษัทและนักลงทุน ผลกระทบทางการเงินรวมถึงค่าชดเชยและค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย ราคาหุ้นตกต่ำ ตลอดจนความไม่ไว้วางใจและความเสียหายอื่นๆ ต่อชื่อเสียงของแบรนด์หรือองค์กร
คำถามที่ตามมาคือผลกระทบเหล่านี้จะอยู่ได้นานเท่าไร? ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การบรรเทาผลกระทบและการตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วหรือผลกระทบอาจคงอยู่ได้นานไม่สิ้นสุด
ตัวอย่างของการโจมตี
การล่มสลายของธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ดึงดูดการปั่นกระแสโจมตีด้วยนักกิจกรรมและผู้มีอิทธิพลจากหลายสายทางความคิด ตั้งแต่ฝ่ายซ้ายสุดไปจนถึงขวาสุด ซึ่งนำไปสู่การแพร่กระจายของทฤษฎีสมคบคิด ข่าวลือที่ขยายความ และข้อมูลเท็จอย่างชัดเจน บางส่วนของเรื่องราวที่ได้รับความนิยม ได้แก่ การอ้างว่า SVB จะได้รับการช่วยเหลือจากภาษีของประชาชน การเล่าขานว่ามีการรีบถอนเงินจากธนาคารเพื่อสนับสนุน Donald J. Trump และการอ้างว่าผู้บริหาร SVB รวมถึง CEO ได้ขายหุ้นส่วนตัวก่อนการล่มสลายเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ทางการเงินแทนที่จะปกป้องลูกค้า
สถานการณ์เช่นนี้ ต้องการการสื่อสารที่มากกว่าเพียงแค่นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง แต่ยังรวมถึงการตรวจจับและตอบโต้เรื่องราวเท็จที่ถูกเผยแพร่ด้วย ในสถานการณ์เช่นนี้ การตอบสนองที่เหมาะสมและรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการควบคุมสถานการณ์และป้องกันไม่ให้ชื่อเสียงขององค์กรเสียหายอย่างไม่สามารถซ่อมแซมได้
การโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูลที่เป็นอันตรายไม่เพียงแต่สร้างความท้าทายให้กับทีมบริหารขององค์กร แต่ยังเป็นเรื่องร้อนๆ ในความรับผิดชอบของนักสื่อสาร นักประชาสัมพันธ์ และเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยของข้อมูล เนื่องจากปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบในวงกว้างและสามารถขยายไปได้อย่างไม่มีขีดจำกัด
องค์ประกอบของการโจมตี
- การบิดเบือนข้อมูล (Misinformation): การแชร์ข้อมูลที่ผิดหรือทำให้เข้าใจผิดโดยไม่ตั้งใจ อาจรวมถึงการแชร์บทความข่าวเก่าหรือข้อมูลที่ถูกเปิดเผยว่าไม่เป็นความจริงแล้ว ข้อผิดพลาดในการรายงานข่าวหรือการใส่สี ใส่ไข่จากเรื่องล้อเลียน ล้อเล่น จนเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง
- ข้อมูลเท็จ (Disinformation): การแชร์ข้อมูลที่ผิดพลาดด้วยเจตนาเพื่อหลอกลวงหรือบิดเบือนผู้รับสาร เช่น การสร้างเนื้อหาทางการเมืองเพื่อหลอกลวง ข่าวปลอม และวิดีโอที่ถูกแก้ไขเพื่อหลอกลวง
- Deep Fakes: การใช้ AI สร้างวิดีโอหรือเสียงปลอมที่ดูเหมือนจริงเพื่อหลอกลวง ซึ่งสามารถใช้ในการสร้างข่าวปลอมหรือหลอกให้ผู้คนเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงได้
- ตัวตนปลอม (Sockpuppets): ตัวตนปลอมที่ถูกใช้บนออนไลน์เพื่อการหลอกลวงและการกระจายข้อมูลเท็จ หรืออธิบายง่ายๆ พวก account หลุมต่างๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ มักถูกใช้เช่น การปกป้องหรือสนับสนุนบุคคลหรือองค์กรและการจัดการความคิดเห็นของสาธารณะ รวมทั้งตัวตนปลอมนี้ ยังถูกสร้างขึ้นเป็นวิธีการหลีกเลี่ยงการถูกแบนจากเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์หรือข้อจำกัดอื่น ๆ
- ชวน Debate แสร้งสุภาพ แสร้งรับฟัง (Sealioning): แสดงท่าทีสุภาพ เชิญชวนให้ debate โต้แย้งเชิงเหตุผล แต่ในความจริง ต้องการหลอกลวง คุกคามผู้เห็นต่าง ด้วยการร้องขอหลักฐานต่างๆ นานา และไม่ยอมรับ ปฎิเสธทุกหลักฐานที่ถูกชี้แจง แถมยังโจมตีกลับเพื่อปฏิเสธสิ่งต่างๆ เหล่านั้น
- รีวิวปลอม (Astroturfing): มักเกิดขึ้นเมื่อเป็นเรื่องราวทางการเมือง ศาสนา หรืออื่นๆ เป็นการสร้างความชอบธรรม สร้างกระแส ด้วยการหลอกหลวงจากกลุ่มผลประโยชน์ที่ดูเหมือนจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องนั้นๆ หรือเป็นกลุ่มชนชั้นรากหญ้าของสังคม เช่น เมื่อใครบางคนบอกว่า องค์กรนี้ดี บุคคลนี้ดี เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่ในความเป็นจริง ใครคนนั้นได้รับผลประโยชน์หรือเงินจากองค์กรหรือบุคคลนั้นๆ มาสื่อสาร
ประเภทของการโจมตี
- เรื่องราววิกฤต: การโจมตีที่เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์วิกฤตส่งผลกระทบต่อองค์กร เช่น อุบัติเหตุของลูกค้า วิกฤตคู่ค้า หรือภัยธรรมชาติ
- การโจมตีทางไซเบอร์: การโจมตีที่เกี่ยวข้องกับการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลภายในที่สำคัญ เช่น ข้อมูลลูกค้าหรือข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ถูกขโมย
- ความเสี่ยงต่อชื่อเสียงของแบรนด์: การโจมตีที่เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายข้อมูลเท็จเกี่ยวกับองค์กร ผลิตภัณฑ์ หรือบุคลากรในองค์กร
- ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์: เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องทางธุรกิจเนื่องจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงคราม การก่อการร้าย ความตึงเครียดทางการเมือง หรือการตอบสนองต่อปัญหาทางสังคมและการเมือง
- ความเสี่ยงต่อตลาดการเงิน: ความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อตลาดการเงิน เช่น วิกฤติธนาคาร อัตราเงินเฟ้อ หรือการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่มีผลต่ออุตสาหกรรม
- ความเสี่ยงจากภัยคุกคามภายใน: ความเสี่ยงที่เกิดจากบุคคลภายในองค์กร เช่น การรั่วไหลของข้อมูลสำคัญโดยไม่ได้ตั้งใจหรือการกระทำโดยเจตนาที่ส่งผลเสียต่อองค์กร
- ความเสี่ยงเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานและการผลิตที่สำคัญ: เหตุการณ์ที่ส่งผลต่อการผลิตหรือห่วงโซ่อุปทาน เช่น การขาดแคลนวัตถุดิบ การยกเลิกสัญญา หรือความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
- การจัดการหุ้นแบบผิดกฎหมาย: การโจมตีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการตลาดหุ้นผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อผลประโยชน์ทางการเงิน
- ความเสี่ยงเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ ข่าวกรองนิติบุคคล: การตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ก่อนการดำเนินธุรกรรมร่วม ทั้งในแง่การกระทำผิด ความประพฤติมิชอบ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดจากการลงทุนและสัมพันธภาพทางธุรกิจ
- ประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG): ประเด็นสำคัญที่บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องให้ความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ ESG รวมถึงการตรวจสอบการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน การจัดการกับปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลที่ดี หากไม่ใส่ใจต่อประเด็นดังกล่าว อาจนำไปสู่การดำเนินงานทางกฎหมาย ขาดความไว้วางใจ และชื่อเสียงเชิงลบขององค์กร
- ประเด็นด้านความปลอดภัย: ความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินจากความเสี่ยงต่างๆ เช่น การก่อการร้าย การละเมิดความปลอดภัย หรือภัยธรรมชาติ การมีระบบความปลอดภัยที่แข็งแกร่งและการวางแผนเผชิญเหตุอย่างรอบคอบช่วยลดความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การสูญเสียหรือความเสียหายได้
- ประเด็นเกี่ยวกับผู้บริหาร: การโจมตีที่เจาะจงต่อผู้บริหาร สามารถส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้อง การโจมตีเหล่านี้ มักเกิดขึ้นหลายรูปแบบทั้งการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล การข่มขู่ หรือการสร้างเรื่องราวเท็จเพื่อทำลายชื่อเสียง
การเข้าใจและเตรียมพร้อมสำหรับประเภทของการโจมตีเหล่านี้ช่วยให้องค์กรสามารถป้องกันและลดผลกระทบจากการโจมตีทางเรื่องราวได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมีการวางแผนที่ดีและการตอบสนองอย่างรวดเร็วเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความมั่นคงและชื่อเสียงขององค์กรในยุคดิจิทัล สามารถเรียนรู้แนวทางการบริหารและจัดการเพิ่มเติมได้ที่ หลักสูตรนักบริหารสื่อสารภาวะวิกฤตรุ่นที่ 2
การเพิ่มขึ้นของการโจมตี
การโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล เป็นมากกว่าการฝึกฝนหรือการบริหารจัดการงานประชาสัมพันธ์เท่านั้น เพราะสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ โดยต้องใช้กลยุทธ์ที่แยบยลทั้งตอบโต้ ตรวจสอบ ติดตาม ไม่สามารถใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้ และด้านล่างนี้ คือ แนวทางการวิเคราะห์การโจมตี 5 ตัวแปรสำคัญ
- ตัวกระตุ้นหรือเหตุแห่งปัญหา: เหตุการณ์ใดๆ ทั้งใหญ่และเล็ก มักจะเกิดจากปมหรือเหตุแห่งปัญหาที่หลายคนอาจขาดไม่ถึง เช่น การรั่วไหลของข้อมูล หรือเหตุการณ์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือภาพสินค้าหรือบริการ ต้องระบุให้ได้ว่าสิ่งใด เหตุการณ์ใดเป็นตัวกระตุ้นหรือต้นเหตุ
- ผู้ร่วมเหตุการณ์: ใครบ้างเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือเนื้อหาที่บิดเบือนเพื่อเพิ่มความสนใจและกระตุ้นการกระจายข่าวหรือสร้างกระแส
- บอต: ในการโจมตีที่ใหญ่ๆ และซับซ้อน มักจะมี AI หรือ Bots เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขยายการโจมตีในสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วมากกว่าที่มนุษย์สามารถทำได้ ต้องวิเคราะห์ให้ดี
- ประเด็น: ประเด็นที่ใช้ในการโจมตีมีหลากหลายวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกข้อมูลหรือหลักฐานด้านเดียวหรือข้อมูลเพียงด้านเดียว การชี้นำประเด็นหรือตีกรอบความคิด สร้างอคติ ด้วยการใช้ข้อความ ภาพ คลิปวิดีโอที่มีอคติเพื่อจูงใจอารมณ์และความคิดเห็นของสาธารณชน
- แพลตฟอร์ม: ทุกสื่อล้วนมีบทบาท ไม่วา่จะเป็นสื่อดั้งเดิม สื่อสังคมออนไลน์ เว็บบอรด์ กระดานข่าวหรือกลุ่ม facebook เว็บไซต์และบล็อกต่างๆ รวมถึงการเจรจาโต้ตอบระหว่างบุคคลที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์
8 วิธีในการลดความเสี่ยงและผลกระทบ
หลายครั้งนักสื่อสาร นักประชาสัมพันธ์ พยายามอย่างหนักมาก แต่บางครั้งก็ไม่อาจสามารถควบคุมพฤติกรรมของผู้อื่นได้ อย่างไรก็ตาม นักสื่อสาร นักประชาสัมพันธ์ สามารถควบคุมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงการโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล ด้านล่างนี้ เป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการบริหารจัดการและป้องกัน ลองนำไปปรับใช้กันครับ
- ติดตามสถานการณ์ต่างๆ: การตรวจสอบและติดตามการสนทนาออนไลน์ทั้งในแง่องค์กร อุตสาหกรรม ไปจนถึงประเด็นสังคม ค่านิยมที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ
- Social Listening ไม่พอ ต้องเพิ่มวิเคราะห์เชิงลึก: หลายองค์กรมี Social Listening แต่ใช้เพียงแค่ดู Keywords และ Sentiment หัวใจสำคัญต้องวิเคราะห์ให้ถึงแก่น ต้นตอ สาเหตุ รูปแบบการแพร่กระจายข่าว ดังนั้นการทำงานกับมืออาชีพที่มีประสบการณ์จึงเป็นสิ่งจำเป็น หรือ เรียนรู้แนวทางเพิ่มเติมได้ที่นี่
- รู้จักอินฟลูเอนเซอร์ตัวจริง: ก่อนเกิดวิกฤตหาให้ได้ใครคือคนที่ชื่นชอบและเกลียดผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์อย่างแท้จริง ไม่ต้องนับอินฟลูฯแบบจ่ายเงินนะ เพราะเมื่อเกิดวิกฤตแล้ว อาจต้องพึงพอคนรักจริงและระวังคนที่เกลียดจัง จะได้จัดการประเด็นอย่างเหมาะสม
- รับฟังและยอมรับ: ในเรื่องเลวร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลผิดหรือเท็จเกี่ยวกับองค์กร อาจมีหลายประเด็นที่ไม่จำเป็นต้องตอบโต้ แต่การรับฟังและยอมรับเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังถูกพูดถึงและติดตาม ตรวจสอบเรื่องราวนั้น ควรจะกระทำและต้องคอยตรวจติดตามเรื่องราวนั้นอย่างต่อเนื่อง เผื่อว่าประเด็นนั้นอาจได้รับความสนใจมากขึ้น
- รู้จักเวลาที่จะตอบโต้: บางครั้งการตอบสนองอย่างรวดเร็ว (หรือการตอบสนองใดๆ) อาจทำให้สถานการณ์แย่ลงและเป็นปัจจัยกระตุ้นความสนใจ เหตุการณ์บางอย่างอาจต้องการการตอบสนองทันที ในขณะที่บางเหตุการณ์อาจควรรอดูสถานการณ์ก่อน
- มีแผนการสื่อสารภายในและแผนการตอบสนองอย่างรวดเร็ว: ข่าวลือและข้อมูลเท็จแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการมีแผนการสื่อสารภายในและแผนการตอบสนองอย่างรวดเร็วก่อนที่จะเกิดการโจมตีเป็นสิ่งสำคัญ
- ผู้บริหารระดับสูงองค์กรต้องจับมือกัน: การโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล อาจไม่สามารถจัดการได้ด้วยเพียงฝ่ายสื่อสารองค์กร อาจต้องร่วมมือกับฝ่ายไอที หรืออื่นๆ ดังนั้น การทำงานร่วมกันระหว่าง Chief Communications Officer (CCO) และ Chief Information Security Officer (CISO) จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤติ เหตุการณ์ต่างๆ เช่น การรั่วไหลของข้อมูลลูกค้าและพนักงาน ไม่เพียงแต่เป็นข่าวใหญ่ในอุตสาหกรรมข่าวเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปสู่การสร้างข้อมูลเท็จและเรื่องราวที่เป็นอันตรายที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วในสื่อสังคมออนไลน์และช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ด้วย
- ที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์มีบทบาทสำคัญ: การตรวจสอบและติดตามความเสี่ยงในบริบทต่างๆ การวิเคราะห์ ข่าวหรือข้อมูล เทคนิคการตอบโต้หรือตอบสนองการโจมตีแบบ real time เป็นงานที่ใหญ่มาก จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในหลายด้านทั้งในแง่การสื่อสาร เทคโนโลยี กฎหมาย ซึ่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ จะนำเครื่องมือ AI ต่างๆ เข้ามาผสานกับวิธีจัดการเชิงกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อควรจำ
- World Economic Forum ระบุว่า การโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูลเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งของทั่วโลก
- องค์กรและบุคคลในทุกอุตสาหกรรมและภูมิภาคอยู่ในความเสี่ยงจากการโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล โดยองค์กรด้านการเงิน หน่วยงานรัฐ และแบรนด์ มีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ
- การโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล มักมีรูปแบบเกิดจากข้อมูลเท็จหรือบิดเบือน ได้รับความนิยมแพร่กระจายบนช่องทางการสื่อสาร นำไปสู่ความเข้าใจผิด ใส่สีตีไข่ สร้างความอับอาย จนกลายเป็นไวรัล
- ผลกระทบจากการโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล ส่งผลต่อความเสียหายทางการเงิน ชื่อเสียง ข้อบังคับ และความเสียหายทางกายภาพ
- การโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล เกิดขึ้นได้หลายประเภท ตั้งแต่ความปลอดภัยทางกายภาพ วิกฤติ ESG บุคคลสำคัญ การลงทุนและควบรวมกิจการ ภัยคุกคามจากภายใน จนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทาน
- นักสื่อสาร นักประชาสัมพันธ์ จะต้องดำเนินการเพื่อป้องกันบริษัทในหลายขั้นตอน ได้แก่ การติดตามสถานการณ์ต่างๆ การตรวจสอบ Social listening แผนการสื่อสารภายในและแผนการตอบสนองอย่างรวดเร็ว รู้จักเวลาที่จะตอบสนอง และประสานความร่วมมือระหว่างผู้บริหารระดับสูงขององค์กร
- การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ดีที่สุด Chief Communications Officer (CCO) เพื่อให้สามารถระบุและเข้าใจความเสี่ยง ควรร่วมมือกับที่ปรึกษาภายนอกที่มีความสามารถ ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านสื่อสารเชิงกลยุทธ์ หรือ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่นี่
บทส่งท้าย
ท้ายที่สุด นักสื่อสาร นักประชาสัมพันธ์ มีบทบาทสำคัญในการปกป้ององค์กรจากผลกระทบของการโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ตอบสนองอย่างเหมาะสม และปรับปรุงกลยุทธ์การสื่อสารอยู่เสมอ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา การร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยจะช่วยให้ทีมการสื่อสารมีข้อมูลเชิงลึกและความเข้าใจที่จำเป็นในการป้องกันและต่อสู้กับการโจมตีทางเรื่องราวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การปกป้ององค์กรจากการโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล ไม่เพียงแต่เป็นการป้องกันชื่อเสียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการรักษาความเชื่อมั่นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเป็นการรับรองว่าองค์กรยังคงมีความแข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่นในการเผชิญกับความท้าทายในยุคดิจิทัลนี้
สราวุธ บูรพาพัธ ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารเชิงกลยุทธ์
การมีแผนการสื่อสารและแนวทางการตอบสนองที่ชัดเจนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรในการรับมือกับการโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล การฝึกซ้อมและการจำลองสถานการณ์วิกฤติ สามารถช่วยให้ทีมการสื่อสารและทีมงานอื่นๆ ภายในองค์กรมีความพร้อมและสามารถตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดเหตุการณ์จริง
การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อมวลชนและอินฟลูเอนเซอร์ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ เพราะพันธมิตรในวงการสื่อ ช่วยให้สามารถเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ไปยังสาธารณชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันการศึกษาและเข้าใจธรรมชาติของข้อมูลเท็จ-บิดเบือน และวิธีการที่มันแพร่กระจายในสังคมดิจิทัล เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้นักสื่อสารและประชาสัมพันธ์ สามารถระบุและตอบสนองต่อการโจมตีได้อย่างมีศักยภาพและเร็วขึ้น
การฝึกอบรมพนักงานและการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงของการโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูล และวิธีการตอบสนองเมื่อพบเห็นเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้องค์กรสามารถลดผลกระทบจากการโจมตีได้ พนักงานที่ได้รับการฝึกฝนและมีความตระหนักรู้สามารถช่วยตรวจจับและแจ้งเตือนเกี่ยวกับการโจมตีที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงช่วยกระจายข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นที่เชื่อถือได้ในหมู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การวิเคราะห์และเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปรับปรุงกลยุทธ์การรับมือในอนาคต การทบทวนและแยกวิเคราะห์การโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้ว สามารถช่วยให้องค์กรเตรียมพร้อมและป้องกันตัวเองจากการโจมตีในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
สุดท้ายนี้ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ และความรับผิดชอบช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจและความภักดีจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย องค์กรที่เน้นย้ำถึงค่านิยมเหล่านี้มีโอกาสที่จะผ่านพ้นวิกฤตและการโจมตีด้วยข่าวหรือข้อมูลได้ด้วยความเสียหายน้อยที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Factsheet 4: Types of Misinformation and Disinformation โดย https://www.unhcr.org/
- Misleading Narratives Rippled Across the Internet After SILICON VALLEY BANK’s Collapse โดย https://blackbird.ai/
- When Narratives Attack โดย https://blackbird.ai/
เรียบเรียงโดย
สราวุธ บูรพาพัธ
สราวุธ เป็นที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง มีประสบการณ์ด้านการสื่อสารในธุรกิจพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจความงาม ธุรกิจบริการ และศูนย์การเรียนรู้ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติกว่า 20 ปี มีความเชี่ยวชาญในการวางแผนการสื่อสารแบบองค์รวม เพื่อสนับสนุนแผนการตลาดหรือสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร รวมทั้ง บริหารจัดการสื่อสารภาวะวิกฤต
จบการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย