หลายคนคงเริ่มสังเกตุเห็นแล้วว่า ปัจจุบัน จำนวนสื่อวิดีโอ ไม่ว่าจะเป็น คลิปสั้น คลิปยาว ไลฟ์สด Tiktok IG/FB story เกิดขึ้นมากมาย เป็นที่นิยมบนโลกออนไลน์ ดังนั้น นักสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ถึงเวลาต้องปรับการสื่อสารแล้วนำ Visual Content เข้ามาใช้ให้มากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ Mark Zuckerberg เตรียมเปิดตัวบริการและเทคโนโลยีต่าง ๆ พร้อมเข้าสู่ Metaverse จักรวาลคู่ขนานกับโลกจริง ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมและความต้องการที่รูปแบบการสื่อสารจะถูกยกระดับก้าวข้ามขีดจำกัดของภาพ ข้อความ ภาพเคลื่อนไหว สู่โลกเสมือนจริงในระบบ AR และ Halogram
หากนึกไม่ออก วันนี้จะมาขอแนะนำ 6 มุก หรือ แนวทางในการนำเสนอแบบ Visual Content ให้ลองนำไปปรับใช้กัน
1. คลิปสั้นและไลฟ์สด
มหกรรม Live สด Live แห้ง (บันทึกเทปแล้วนำมาออนบนโลกโซเชียล) อยู่ในกระแสเสมอ ยิ่งปัจจุบัน พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแปลงไป รูปแบบสื่อสารเดิม ๆ อย่างการรีวิวสินค้าและบริการ การอบรมออนไลน์ โฆษณาวิดีโอแบนเนอร์แบบต่าง ๆ ยังคงต้องทำอยู่ แต่ความเข้มข้นของเนื้อหา โดยเฉพาะในรูปแบบวิดีโอจะต้องคุ้มค่าและเกี่ยวข้อง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น ผลการศึกษาหลายวิจัยพบว่า ผู้บริโภคจะเสพวิดีโอบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 78 ในปี 2021 และผู้บริโภคชื่นชอบในการชมวิดึโอมากกว่าการอ่านถึง 4 เท่า
สำหรับใครที่ยังนึกไม่ออกว่าจะทำให้วิดีโอน่าสนใจได้อย่างไร ปัจจุบัน มีแพลทฟอร์ม VDO Creator มากมายให้นักสื่อสารได้ลองนำไปปรับใช้ทั้ง Canva Vimeo Offeo และอื่น ๆ ที่มี template ให้นำไปประยุกต์ปรับใช้มากมาย โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านเทคนิคมากอย่างไร ตัวอย่างด้านล่างก็ใช้แพลทฟอร์ม VDO Creator
2. Infographics
เมื่อกล่าวถึง Infographics หลายคนคงคุ้นเคย และเป็นที่นิยมมากเมื่อปี 2014 แม้ว่าความนิยมจะอยู่ในขาลง แต่ก็ยัง work และกระตุ้นความสนใจผู้บริโภคได้ดี ด้วยความสามารถที่ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจเนื้อหาต่าง ๆ ได้ง่าย เช่นเดียวกัน ลองไปใช้ template สำเร็จรูปในงาน Canva หรือเครื่องมืออื่น ๆ ก็ได้
หนึ่งในวิธีการใช้ Infographics ให้น่าสนใจคือการสร้างกราฟฟิก icon ต่าง ๆ และขยายความในแต่ละช่วง ให้เกิดการติดตามและรับรู้ว่า ในแต่ละช่วงนั้นมีความลับหรือสาระสำคัญอะไรที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างของการอธิบายประวัติของ Elon Musk รับชมได้ที่ https://blog.adioma.com/how-elon-musk-started-infographic/
3. กราฟและชาร์ต
หนึ่งในเทคนิคที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่สื่อโซเชียล อีเมล หรือ presentation ของคุณ คือ การนำกราฟและชาร์ตต่าง ๆ มาใช้ เมื่อผู้อ่านเห็น มีแนวโน้มที่เชื่อ แชร์ และส่งลิงก์งานชิ้นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณมีข้อมูลอ้างอิงจากผลงานวิจัยหรือศึกษาเชิงสถิติเกี่ยวข้องด้วย
4. Memes and GIFs
การใช้มีม Memes หรือภาพเคลื่อนไหวสั้นแบบ Gif หากพิจารณาแล้ว ผู้บริโภคชาวไทยมีความคิดสร้างสรรค์และนำมาใช้เป็นจำนวนมาก โดยปกติแล้วมีม จะถูกใช้โดยผู้บริโภค และเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน อาจไม่เหมาะกับกลุ่มผู้สูงวัย หรือใช้ในเรื่องราวที่ซีเรียส นอกจากนี้ ต้องระมัดระวังในเรื่อง การนำภาพบุคคลอื่น หรือ ภาพที่อาจมีลิขสิทธิ์มาใช้ด้วย
ตัวอย่าง มีม ที่นิยมใช้ในไทย โดยนำภาพบุตรชายของนักแสดงชื่อดัง อารยา เอ ฮาร์เก็ต
ที่สำคัญ ขนาดของไฟล์ภาพ Memes หรือ GIFs มีขนาดเล็กกว่าวิดีโอ ทำให้ไม่ต้องใช้ความไวของเครือข่ายอินเตอร์ที่สูงมากนักในการแสดงผล ทำให้ผู้บริโภคสามารถเห็นภาพได้ง่าย รวดเร็ว เพียงเลื่อนผ่านก็สามารถเห็นภาพ Gif ได้ ต่างจากวิดีโอที่ต้องใช้เวลาในการโหลดภาพเคลื่อนไหว ดังนั้น การใช้ภาพประเภทนี้ เหมาะสำหรับการใช้เพื่อหยุดความสนใจ หรือ แสดงความสำคัญ ประกอบในภาพนิ่งอื่น ๆ หรือ ข้อความ ให้ดูมีมิติมากขึ้น
5. Interactive Content เนื้อหาที่สร้างการมีส่วนร่วม
กลุ่มเนื้อหาภาพนี้ ได้แก่ โพลสำรวจ แบบสอบถามสั้น ๆ หรือ Quizzes จะช่วยให้เนื้อหาบนโลกออนไลน์ของคุณน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นหรือน่าสนใจในกระแสปัจจุบัน กระตุ้นให้เกิดการแชร์ หรือมีส่วนร่วม หัวใจสำคัญของเครื่องมือกลุ่มนี้คือ อยากทราบถึงผลว่าเป็นอย่างไร ผลที่ตนเองเลือกกับเพื่อนเลือกนั้นต่างกันหรือไม่
แล้วจะถามว่าอะไรดีละ ลองเข้าไปดูตัวอย่างคำถามยอดนิยม หรือ ที่กำลังเป็นกระแสได้ที่ https://www.buzzfeed.com/ashleyperez/what-career-should-you-have หรือ หากต้องการจะล้อกับกระแสสังคม ลองแวะเข้าไปชมใน https://trends.google.co.th/trends/?geo=TH ก็ได้
6. Webinars และเรียนออนไลน์
ในรอบสองปีที่ผ่านมาช่วงโควิด จนปัจจุบัน กระแส Webinar และ เรียนออนไลน์ กลายเป็นที่นิยมมาก มีผู้ให้บริการหลากหลาย มีทั้งแบบฟรี และเสียค่าใช้จ่าย ด้วยเพราะมีผู้ทำเป็นจำนวนมากแล้วจะรู้ได้อย่างไร ทำเนื้อหาแบบไหน จะแป๊ก หรือ ปัง หนึ่งในแนวทางลองเข้าไปดูในแพลทฟอร์มอบรมออนไลน์ชั้นนำหลาย ๆ แห่ง อาทิ Skillane Edumall แล้วดูว่าหลักสูตรยอดนิยมของแต่ละแห่งเป็นเช่นไร เพื่อจะได้ทราบถึงแนวทางและความสนใจของกลุ่มเป้าหมายเราได้มากขึ้นว่า ควรทำเรื่องอะไร อย่างไร จะฟรี หรือ เสียเงิน
ทั้งนี้ การจัดอบรมและเรียนออนไลน์ จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นกับ magnets หรือ speakers ที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นหรือให้ความรู้ด้วย หากเป็นไปได้ ลองเสริมทัพด้วย influencers ในกลุ่มสาขาอุตสาหกรรม หรืออาชีพ มาด้วย และจะ perfect มาก หากการเข้าร่วมกิจกรรมออนไลน์ครั้งนี้ มี promotion หรือสิทธิพิเศษอะไรให้กับผู้เข้าฟังเพิ่มด้วย
ด้านแพลทฟอร์มที่ใช้ในการจัดกิจกรรมออนไลน์ทั้งอบรมและเรียน มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น zoom google meet microsoft team ซึ่งแต่ละค่ายมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน
ที่สำคัญ ในการจัดกิจกรรมแบบนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังได้อัพเดทข้อมูลทั้งกลุ่มเป้าหมายเดิมและใหม่ผ่าน อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ และช่องทางการติดต่อด้วย
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นแนวทาง 6 มุกสื่อสารด้วย Visual Content มัดใจ Consumer ที่อยากให้นักสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ได้ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ
ข้อมูลอ้างอิง
Cisco (2021). Cisco Annual Internet Report (2018–2023) White Paper. Retrieved from https://www.cisco.com/c/en/us/solutions/collateral/executive-perspectives/annual-internet-report/white-paper-c11-741490.html
PR Newswire (2015). Animoto Survey: Consumers Want More Video Marketing on Web, Social and Email. Retrieved from https://www.prnewswire.com/news-releases/animoto-survey-consumers-want-more-video-marketing-on-web-social-and-email-300079377.html
เขียนโดย
สราวุธ บูรพาพัธ
สราวุธ เป็นที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง มีประสบการณ์ด้านการสื่อสารในธุรกิจพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจความงาม ธุรกิจบริการ และศูนย์การเรียนรู้ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติกว่า 20 ปี มีความเชี่ยวชาญในการวางแผนการสื่อสารแบบองค์รวม เพื่อสนับสนุนแผนการตลาดหรือสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร รวมทั้ง บริหารจัดการสื่อสารภาวะวิกฤต
จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย