Mintel เผยผลการสำรวจปี 65 ชี้ผู้บริโภคชาวไทยมองหาแบรนด์ที่จะช่วยให้ตนเองบรรลุเป้าหมาย ด้านความยั่งยืน สุขภาพทางการเงินที่ดี และไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น หลังเผชิญโควิด-1
Mintel เผยรายงานล่าสุดเกี่ยวกับผู้บริโภคชาวไทยปี 2565 โดยไฮไลต์ของรายงาน ได้แก่ ทัศนคติของผู้บริโภคชาวไทยที่มีต่อชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป และข้อเสนอแนะสำหรับแบรนด์ต่าง ๆ ที่ผนวกข้อมูลผู้บริโภค ข้อมูลการตลาดเชิงลึก และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่บรรดาแบรนด์ต่าง ๆต้องการ เพื่อช่วยผลักดันให้แบรนด์ประสบความสำเร็จในตลาดปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล
คุณวุ้น ปองสงวน จีระเดชากุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์รายงานของผู้บริโภคชาวไทยและชาวอินเดียของ Mintel กล่าวว่า:
“เหตุการณ์ในช่วงสองปีที่ผ่านมาได้ทิ้งรอยแผลและผลกระทบต่อชีวิตในด้านต่าง ๆ มากกว่าที่เราได้คาดการณ์ไว้ แม้โรคระบาดจะเป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดการใช้งานระบบดิจิทัลและทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโต แต่โรคระบาดถือเป็นอุปสรรคสำหรับการบริโภคอย่างยั่งยืนของกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย”
แม้ว่า โรคระบาดจะนำไปสู่ปัญหาทางการเงินในด้านต่าง ๆ เช่น หนี้สินภาคครัวเรือน การว่างงานที่สูงขึ้น ฯลฯ หากมองในมุมบวก เราก็จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคชาวไทยหันกลับมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคเพศหญิงยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ซและบริการด้านอาหารอีกด้วย
ผู้บริโภคชาวไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
จากผลการวิจัยล่าสุดของ Mintel แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคชาวไทยประมาณ 82% พยายามทำในสิ่งที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และบริการจัดส่งสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น เช่น จำนวนของเสียที่เกิดจากการดำเนินการดังกล่าว การปล่อยก๊าซพิษ และการบริโภคที่มากจนเกินไป ถือเป็นปัจจัยที่ขัดกับความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
คุณวุ้นยังกล่าวอีกว่า “แบรนด์ควรจะลดข้อความที่สื่อถึงเรื่องความสะดวก ประโยชน์ต่อสุขภาพ และความคุ้มค่าลงบ้าง โดยหันมาสื่อสารข้อความเกี่ยวกับผลกระทบเชิงบวกที่เกิดจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนบนบรรจุภัณฑ์หรือโซเชียลมีเดียให้มากขึ้น เพื่อชักชวนคนไทยให้หันมาประยุกต์ใช้ไลฟ์สไตล์ที่ยั่งยืน
ช่วยผู้บริโภคให้มีสุขภาพทางการเงินที่ดี
หนี้สินภาคครัวเรือนเป็นปัจจัยที่กำลังกดดันสถานภาพทางการเงินของคนไทย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะย่ำแย่ลง จากอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นและรายได้ที่ลดลง ผลการวิจัยของ Mintel พบว่า แม้ว่าผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ (73%) จะให้ความสำคัญกับกองทุนฉุกเฉิน แต่เรื่องของหนี้สินยังคงเป็นปัญหากวนใจ โดยคนไทย (52%) ที่อาศัยอยู่ในชนบท ให้ความสำคัญกับการชำระหนี้สิน
ผลงานวิจัยของเรายังพบว่า ผู้บริโภคชาวไทยสามารถมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นได้ หากเรามีเครื่องมือที่ดีพอที่จะช่วยเหลือในเรื่องการบริหารจัดการด้านการเงินและชำระหนี้ ในกรณีนี้แบรนด์สามารถช่วยผู้บริโภคได้ด้วยผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างรับผิดชอบ
“จริง ๆ แล้วยังมีความต้องการอีกมากในการพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเงินของคนไทย และหากใครก็ตามที่กำลังเผชิญปัญหาด้านการเงิน แม้จะเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยก็ตาม คำแนะนำด้านการลงทุนไม่ว่าจะแบบดั้งเดิมหรือแบบใหม่อย่างสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถเป็นตัวช่วยในการวางแผนทางการเงินให้ไปต่อได้” คุณวุ้นกล่าว
ช่วยคนไทยให้ใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น
ปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยจำนวน 4 ใน 5 (81%) มีความกังวลเกี่ยวกับอาหารการกิน การใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง และการจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น โดยผลการวิจัยล่าสุดจาก Mintel แสดงให้เห็นว่า กว่า 60% ของผู้บริโภคชาวไทยตั้งใจที่จะดูแลสุขภาพของตน ด้วยการบริโภคอาหารที่ดีหรือการดื่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลังที่เสริมวิตามิน ฯลฯ แต่ถึงกระนั้น การที่ผู้บริโภคไม่มีเวลา ความไม่สะดวก และรสชาติอาหารที่ไม่ถูกปากก็ถือเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางความตั้งใจที่จะมีสุขภาพดีของผู้บริโภคได้เช่นกัน
คุณวุ้นกล่าวต่อไปว่า “แบรนด์ต่าง ๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในจุดนี้ได้ด้วยการช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคแต่ละช่วงอายุ ด้วยการอธิบายเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการของแบรนด์ว่าจะช่วยแก้ปัญหาแต่ละส่วนของผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง นอกจากนั้นยังเป็นการเปิดโอกาสให้แบรนด์รังสรรค์นวัตกรรมที่ใช้งานได้ในยุคที่ผู้บริโภคเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า”
ขับเคลื่อนด้วย ‘ she-economy ‘ พลังผู้หญิงเปลี่ยนโลกเศรษฐกิจ
รายงานผู้บริโภคชาวไทยปี 2565 เผยเหตุผลสำคัญ 2 ข้อที่ทำให้ ‘She-economy’ ในไทยกำลังมาแรง ประการแรก ในช่วงที่เกิดการระบาดครั้งใหญ่ ผู้บริโภคเพศหญิงมีบทบาทสำคัญในการดันยอดอีคอมเมิร์ซของตลาดให้พุ่งสูงด้วยการเป็นผู้ซื้อสินค้าและใช้บริการจัดส่งอาหารออนไลน์และแอปพลิเคชันเป็นประจำ ประการที่สอง ความตระหนักในเรื่องพลังของผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศโดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภค Gen Z และสาวยุคมิลเลนเนียลที่จะมาขับเคลื่อนการเลือกซื้อสินค้าประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องความงามตามธรรมชาติเพื่อคุณค่าและความมั่นใจในตัวเองก็เป็นประเด็นสำคัญมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้บริโภคผู้หญิงกว่าครึ่งหรือ 51% ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้แบรนด์ต่าง ๆ ได้ผลักดันและสนับสนุนในเรื่องความงาม และประสบการณ์ด้านความงานเชิงบวกสำหรับผู้หญิง
“ในขณะที่ลูกค้าเพศหญิงหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และบริการส่งอาหารมากขึ้นในช่วงการระบาดนั้น ความกังวลเรื่องไลฟ์สไตล์ตั้งแต่เรื่องของสุขภาพไปจนถึงการเงินในแต่ละช่วงอายุมีความแตกต่างกันออกไป โดยแบรนด์ต่าง ๆ สามารถปรับแต่งข้อเสนอของแบรนด์ให้ตรงตามความต้องการเฉพาะทางเหล่านั้นได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์แก่กลุ่มลูกค้าผู้หญิง แต่ยังช่วยสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์บ่อยครั้งขึ้นได้อีกด้วย”
ยิ่งไปกว่านั้น ความตระหนักในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเพศหญิงต้องการที่จะสนับสนุนแบรนด์ที่ช่วยสะท้อนความเชื่อส่วนตัวรวมไปถึงความเป็นตัวของตัวเอง แบรนด์ที่มีค่านิยมที่สอดคล้องกับการส่งเสริมพลังของผู้หญิงจะสามารถโปรโมทข้อความสื่อหรือแคมเปญเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์และลูกค้าที่จะนำมาซึ่งการสนับสนุนจากกลุ่มสาวนักช้อปยุคใหม่ได้ด้วยเช่นกัน
รายงานผู้บริโภคชาวไทยปี 2565 ของ Mintel พร้อมให้ดาวน์โหลดฟรีแล้วที่นี่