fbpx

10 เรื่องจริงสุดโหดของอาชีพ “พีอาร์”

สำหรับหนุ่มสาวที่ยังคิดไม่ตกว่าจะทำงาน พีอาร์ หรือ ประชาสัมพันธ์ หรือไม่ ในฐานะรุ่นพี่วิชาชีพขอมาเล่าเรื่องจริงสุดโหดของสายงานให้ฟังขำๆ สัก 10 ข้อ ที่คนในวิชาชีพนี้คงหนีไม่พ้น

พีอาร์

1. งานพีอาร์ เป็นมากกว่าการวางแผนจัดกิจกรรม

งานเขียน และการสร้างแคมเปญ เพราะงานพีอาร์จะต้องมีการประเมินผล และแก้ปัญหาไม่รู้จบ ดังนั้น ความคิดสร้างสรรค์จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่ฝันเฟื้องนะจ๊ะ และบางวัน อาจต้องกลายร่างเป็นนักวิจัย ค้นคว้าหาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจอีกด้วย

2. งานนี้ เครียด แน่นอน

ไม่ว่าจะได้ทำงานพีอาร์เอเจนซี่ หรือ งานพีอาร์ในองค์กรเล็กหรือใหญ่ หรือบางทีไปแฝงอยู่ในสายการตลาด จำไว้นะ เราไม่สามารถห้ามหรือควบคุมความคิดหรือคำพูดใครได้ ดังนั้น จึงหนีไม่พ้น คนพีอาร์นี่ละ ต้องเข้าไปเคลียร์ โดยเฉพาะเรื่อง ชื่อเสียงขององค์กร

3. ทำตัวให้ทันสมัย ทันเหตุการณ์เสมอๆ

ทุกเทรนด์ ทุกสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรหรือเรื่องที่ต้องทำ เป็นหน้าที่พีอาร์ต้องเสาะหาและเกาะติดอยู่เสมอ

4. บางครั้งก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า งานพีอาร์ นั้นมี ค่า ไม่ใช่ ควรฆ่า

หลายครั้งฝ่ายพีอาร์ เมื่อองค์กรต้องการลดงบประมาณ จะโดนตัดเป็นอันดับแรก เลวร้ายสุด ก็ยุบฝ่ายหรือแผนกทิ้ง ดังนั้น เป็นหน้าที่ของพีอาร์ต้องพิสูจน์ตนเองให้องค์กรเห็นถึงความสำคัญว่า คุ้มค่าที่จ้างหรือมีฝ่ายพีอาร์ อย่างคุณ

5. บางครั้ง ชีวิตคุณอาจจะต้องตระเวนอยู่นอกออฟฟิศเสียส่วนใหญ่

การต้องไปพบปะผู้คนหรือประสานงานกับบุคคลหลากหลาย อาจเป็นปัจจัยนสำเร็จในบางแคมเปญ และในบางครั้งคุณอาจต้องวิ่งวุ่นหาทางแก้ไขปัญหาบนโลกออนไลน์อย่างด่วนๆ แทนที่จะปล่อยให้ผ่านไปแล้วรอวันจันทร์

6. พีอาร์ เป็นอาชีพที่แข่งขันอย่างสูง

การไปฝึกงานเพียงไม่กี่เดือนหรือการเป็นเด็กกิจกรรมในช่วงเรียนปริญญาตรี อาจไม่เพียงพอต่อการทำงานพีอาร์ในปัจจุบัน การมีประสบการณ์โดยตรงจะดียิ่งกว่า หลายครั้ง การไปฝึกงานในบริษัทต่างๆ อาจสร้างโอกาสทางอาชีพให้แก่ตนเองได้เมื่อเรียนจบ แต่หากไม่เช่นนั้น จงเริ่มต้นอาชีพพีอาร์สักแห่ง เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ อย่าเลือกมากนัก

7. อาจมี นักพีอาร์ บางคนที่ทำเสียชื่อเสียง

จำไว้ว่า คนนั้นอย่าเป็นเรา จงเรียนรู้จากบทเรียนเหล่านั้น มีจุดยืนเป็นของตนเอง ยึดมั่นในจริยธรรม ซื่อสัตย์ และซื่อตรง

8. บางส่วนของงานพีอาร์ จะต้องทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมให้แต่ละคนรู้จักกัน

เช่น ลูกค้าบางราย ต้องการคนออกแบบเว็บไซต์ นักพีอาร์ คงต้องแนะนำบุคคลที่เหมาะสมเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของลูกค้า เป็นต้น

9. ริเริ่มด้วยตนเอง (self-starter)

บางครั้งเราอาจมีไอเดียใหม่ในการสร้างสรรค์แคมเปญให้แก่องค์กร ดังนั้น จะต้องกล้าเดินไปคุยกับเจ้านายหรือลูกค้าว่าควรจะทำอะไรบ้าง หากเขาไม่เห็นด้วย บางครั้ง นักพีอาร์จำเป็นต้องทำ presentation หรือ proposal ประกอบ เพื่อให้เขาเห็นว่า สิ่งที่เรานำเสนอนั้นมีค่า You can’t be a pencil pusher; you have to be an opportunist.

10. จงเป็นคนใส่ใจรายละเอียด (detail-oriented)

หากใครบางคนลืมรายละเอียดปลีกย่อย คุณนั่นละ ต้องเป็นคนเติมเต็ม เพราะ คุณ คือ มืออาชีพ

อ่านถึงบรรทัดนี้ มั่นใจไหมว่ายังอยากทำงาน พีอาร์ หาก ใช่ จงก้าวเดินต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *