fbpx

งานที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ “เหมาะ” กับคุณหรือไม่?

ก่อนที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจที่ปรึกษา อยากให้เข้าใจในภาพรวมโดยทั่วไปของ งานที่ปรึกษาเสียก่อน นับตั้งแต่ขนาดองค์กร รูปแบบการให้บริการ หน้าที่ ลักษณะ ความเสี่ยง จนถึง ทักษะและประสบการณ์ที่จำเป็นต้องมี เพื่อให้คุณติดสินใจได้ในที่สุดว่า สุดท้ายแล้ว จะมาทำงาน ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ หรือไม่

ประชาสัมพันธ์

อันดับแรก ขนาดขององค์กรที่คุณคิดว่า ถูกจริต ของคุณนั้นเป็นแบบใด

เริ่มตั้งแต่ บริษัทที่ปรึกษาขนาดใหญ่มีทีมที่ปรึกษามากกว่า 30 คน ให้บริการครบวงจรในหลายด้าน หรือ บริษัทขนาดกลางที่มีจำนวนที่ปรึกษามากกว่า 10 คน ให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ หรือ บริษัทขนาดย่อม ซึ่งขอเรียกว่าเป็น Boutigue Firms แทนแล้วกัน ให้บริการในกลุ่มธุรกิจเฉพาะหรือมีความถนัดเฉพาะด้านอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน ปัจจุบันก็มีหลายคน ผันตนเองมาเป็น ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์อิสระ ที่คอยให้บริการแก่บริษัทขนาดกลางและเล็ก

อันดับที่สอง จริงๆ แล้วที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ทำอะไรกันแน่

โดยแนวคิดของการเป็นที่ปรึกษาคือ การเข้าไปช่วยองค์กรลูกค้าพัฒนาปรับปรุงการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกให้ดียิ่งขึ้น เข้าไปช่วยในการบริหารจัดการของฝ่ายบริหารด้วยการสื่อสาร วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและเหตุแห่งปัญหา เพื่อพัฒนาแผนงานที่เหมาะสมและดียิ่งขึ้น สรุป

แม้ว่างานหัวใจหลักคือ การช่วยเหลือองค์กรของลูกค้าให้อยู่ในสถานะการณ์ที่ดีขึ้น แต่ก็มีบทบาทและหน้าที่อีกหลายด้านที่ปรึกษาจำเป็นต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แบ่งเป็น 8 ประการ (ประยุกต์จากแนวคิดของ ดร. อาเธอร์ เทอร์เนอร์ ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์การจาก Harvard Business School) ได้แก่

  1. จัดเตรียมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่ลูกค้า
  2. เสนอทางออกให้แก่ทางตันหรือปัญหาต่างๆ
  3. วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน
  4. ให้คำแนะนำต่อเรื่องต่างๆ อย่างเหมาะสม
  5. ดำเนินการตามแผนงาน
  6. ทำให้เกิดการยอมรับในกลุ่มผู้บริหาร หรือ ผู้นำความคิด
  7. อบรมหรือถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกค้า ให้เกิดการเรียนรู้
  8. สนับสนุนการดำเนินงานภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นด้วยการสื่อสาร

อันดับที่สาม ลักษณะการทำงานของที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์

ที่ปรึกษาหลายคนไม่ได้มีแนวทางในการทำงานที่เหมือนกัน แล้วแต่วิธีการของแต่ละคนในการเริ่มต้นธุรกิจ บางคนทำงานเหมือนเป็นงาน part-time ชอบการทำงานแบบนี้ แต่ไม่ต้องการใช้เวลาทั้งวันหรือทั้งอาทิตย์เอาแต่ทำงาน ขณะที่บางคนมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับการทำงานเป็นอย่างมาก เพื่อสร้างรายได้มาใช้ในครอบครัว ดังนั้น การที่คุณจะเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์นี้ เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสามารถได้เป็น 4 แบบ ได้แก่

ทำงานแบบเป็นงานอดิเรก : ไม่จริงจังในการทำงานเท่ากับการทำงานจริง ใช้เวลาเพียงเล็กน้อยในการทำงานที่ปรึกษา ไม่จำเป็นต้องวางแผนงานมากนัก เป็นการทำงานแบบสบายๆ ไม่เป็นทางการมากนัก

ทำงานแบบใช้ไปวันๆ : งานที่ปรึกษาเหมือนจะเป็นงานเลี้ยงชีพ แต่ว่า รายได้อาจจะไม่เพียงพอต่อการลงทุนขยายธุรกิจหรือพัฒนาต่อยอดให้เติบโต งบประมาณที่ได้รับยังจำกัดอยู่ ส่วนใหญ่ยังมีเวลาเหลือมากกว่ามีงานเข้ามาให้ทำ

ทำงานแบบก้าวหน้า : ตั้งใจทำงานจริงจังเต็มเวลางานให้แก่กลุ่มลูกค้า เติบโตจากการรับขนาดเล็ก ก้าวสู่การว่าจ้างในระดับรายได้ที่สูงขึ้น แต่ไม่สามารถโตมากกว่านี้ได้ด้วยข้อจำกัดในหลายด้าน

ทำงานเพื่อสร้างอณาจักรและอนาคต : ทำงานอย่างเป็นระบบและจริงจังโดยมีความพร้อมในการรับงานขนาดใหญ่ เพื่อสร้างการเติบโตได้ในระยะยาว และให้ความสำคัญต่อการพัฒนางานเชิงทรัพยสินทางปัญญา และก้าวออกจากกฎเกณฑ์การทำงานของตำรา สู่การประยุกต์ใช้ ปฏฺิบัติอย่างแท้จริง

อันดับสี่ ความเสี่ยงของการเป็นที่ปรึกษางานประชาสัมพันธ์อิสระ

ความเสี่ยงมีเสมอสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นดำเนินธุรกิจใหม่ๆ จากสถิติทั่วไป พบว่า ร้อยละ 65 ของธุรกิจที่เริ่มใหม่จะล้มหายไปในระยะเวลา 5 ปี และ 2 ใน 3 จะสาบสูญไปใน 10 ปี

โชคดี ธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ อยู่นอกเหนือสถิติดังกล่าว เพราะมีความเสี่ยงที่แตกต่างออกไป และความท้าทายบางประการที่ต้องพิจารณา

  1. ต้องทำงานตัวคนเดียว ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ที่ปรึกษางานประชาสัมพันธ์หลายคนทำงานตัวคนเดียว ด้วยประวัติของการทำงานและความเชี่ยวชาญของตน ทำให้สามารถสื่อสาร เจรจา ต่อรองกับกลุ่มลูกค้าได้อย่างเป็นกันเอง รวดเร็ว แต่จะมีหวั่นไหวบ้าง เมื่อต้องเจอกับงานใหญ่ เพราะรู้สึกที่จะต้องทำงานเพียงลำพัง ตัวเป็นเกลียว หัวเป็นน็อต และใช้เวลาการทำงานมากกว่าปกติ
  2. มีความรับผิดชอบสูงและบริหารงานที่รัดกุม หลายคนมักจะพลาดในข้อนี้ เพราะไม่มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ดังสุภาษิตไทยที่ว่า ผลัดวันประกันพรุ่ง หรือ คำยอดฮิต เดี๋ยวก่อน ไว้ค่อยทำ หรือ มีงานที่ต้องทำหลายส่วน จนทำให้ไม่สามารถทำงานได้ทันกำหนดตามระยะเวลา ดังนั้น การหาพันธมิตร หรือ partner ในการทำธุรกิจร่วมกัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีขึ้น
  3. โรคทำทุกอย่างเองทั้งหมด เพราะเป็นธุรกิจของตน ทำให้หลายคนตกอยู่ในกับดักความคิดนี้ “ทำทุกอย่างเองทั้งหมด” เป็นที่เข้าใจได้ว่า เมื่อคุณเริ่มต้น คุณต้องรับผิดชอบทุกอย่าง แต่ต้องจำไว้ว่า เมื่อคุณโตขึ้น บทบาทของคุณจะไม่เป็น CEO, CFO, COO, VP of Sale, Chef จนถึง คนล้างจาน ในครั้งต่อๆ ไป ผมมีแนวทางง่ายๆ ที่ได้เคยเรียนรู้มาให้คุณลองนำไปทดลองทำดู เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการในอนาคต ก่อนคุณจะบ้าตายเสียก่อน ขอเรียกแนวทางนี้ว่า “CEO MAD BO”

อ่านถึงบรรทัดนี้แล้ว หลายคนอาจถอนหายใจ แต่อย่าลืมยังคงมีสำนวนที่ว่า กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว ฉันใดฉันนั้น หากคุณมุ่งมั่นและตั้งใจจริง ย่อมมีวันสำเร็จ

อันดับที่ห้า ประสบการณ์อะไรจำเป็นต่อการเป็นที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์

หลายคนมักมีคำถามแรกๆ ในใจว่า ประสบการณ์อะไรบ้างที่จำเป็นต่อการทำงาน ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ ขอแบ่งกลุ่มประสบการณ์เป็น 4 ประเภทง่ายๆ ให้คุณลองพิจารณาแล้วกัน เพราะแต่ละประเภทจะช่วยให้คุณสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น สามารถตอบโจทย์และความต้องการของลูกค้าได้ง่ายขึ้นด้วย

  1. ประสบการณ์ในการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง หมายความว่า หากคุณมีประสบการณ์เจอกับหลากหลายสถานการณ์ จะทำให้สามารถให้คำแนะนำหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ง่ายขึ้น เช่น เกิดปัญหาการร้องเรียนบริการของลูกค้าบนโลกออนไลน์ หากคุณไม่เคยจัดการเหตุการณ์เช่นนี้ ก็อาจเป็นการยากในการให้คำแนะนำแก่ลูกค้าได้ หัวใจสำคัญข้อนี้ คือ แนวทางการแก้ไขปัญหาหลักที่คุณแนะนำลูกค้า เกิดขึ้นจาก ประสบการณ์ตรง ประสบการณ์จริงของคุณในโลกธุรกิจ
  2. ประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจในฐานะเจ้าของกิจการ เป็นธรรมดา หากคุณเองยังไม่เคยเป็นเจ้าของกิจการหรือทำกิจการของตนเอง จะยากต่อการดำเนินธุรกิจให้สำเร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณจะทำไม่สำเร็จ หากไม่เป็นเจ้าของกิจการมาก่อนนะ แต่การมีประสบการณ์ในฐานะเจ้าของกิจการ คุณจะมีความเข้าใจ ความอดทน อดกลั้นต่อหลายสิ่งมากกว่า เพื่อให้ประสบความสำเร็จ
  3. ประสบการณ์ด้านการวิเคราะห์ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวในการจัดการและแก้ไขปัญหางานประชาสัมพันธ์ การวิเคราะห์ด้วยเหตุและผลเป็นสิ่งจำเป็น จะทำให้สามารถแยกแยะ ถึงต้นเหตุ กลุ่มเป้าหมาย รูปแบบสาร การส่งสาร ได้ชัดเจน เพื่อหาแนวทางจัดการในแต่ละประเด็นปลีกย่อยได้ตรงจุด ดังนั้น การเป็นคนช่างวิเคราะห์ ยึดหลักเหตุและผล และรู้จักการแก้ปัญหาจะช่วยให้ทำงานที่ปรึกษาได้ดีขึ้น
  4. ประสบการณ์ด้านการตลาดและการขาย พวกเรานักสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ รู้จักเครื่องมือในการส่งเสริมการขาย สนับสนุนการตลาดเป็นอย่างดี แต่อาจไม่มีประสบการณ์ในการขายธุรกิจที่ปรึกษา หลายคนอาจ hard sell ขายองค์กรให้แก่กลุ่มลูกค้า เหมือนการขายหลักสูตรอบรมสัมมนา ซึ่งอาจเป็นแนวทางที่ผิด เพราะธุรกิจที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ ไม่สามารถหยิบแผ่นพับหรือใบปลิวขึ้นมาอ่านและซื้อได้ ดังนั้น การขายทักษะและความเชี่ยวชาญ คงต้องใช้รูปแบบการตลาดและการขายในวิถีทางที่แตกต่างออกไป

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงแนวคิดหนึ่งที่อยากแบ่งปันทุกคนเท่านั้น ยังคงใช้คำเดิมที่ว่า ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ในการเริ่มต้นธุรกิจ ผมอยากเพียงจุดประกายความคิด ตอบโจทย์ ตอบใจของแต่ละคนก่อนว่า คุณพร้อมหรือยังที่จะเริ่มต้น ธุรกิจที่ปรึกษา ในฐานะ ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามคอลัมน์นี้ผ่าน https://www.prmatter.com/category/pr-mastery/the-pr-consultant/

เขียนโดย

สราวุธ บูรพาพัธ

สราวุ​ธ เป็นที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง มีประสบการณ์ด้านการสื่อสารในธุรกิจพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจความงาม ธุรกิจบริการ และศูนย์การเรียนรู้ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติกว่า 20 ปี มีความเชี่ยวชาญในการวางแผนการสื่อสารแบบองค์รวม เพื่อสนับสนุนแผนการตลาดหรือสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร รวมทั้ง บริหารจัดการสื่อสารภาวะวิกฤต

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *