ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเปลี่ยนโฉมทุกแง่มุมของวิธีการสื่อสารของเรา กำแพงความหลากหลายวัฒนธรรมถูกทำลายเรียบร้อยแล้ว ถึงเวลานักสื่อสารต้องเข้าใจองค์ประกอบที่ส่งผลต่อการสื่อสารเชิงวัฒนธรรมผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสภูมิพลังวัฒนธรรม (Soft Power) ที่นโยบายรัฐกำลังให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก
ปัจจัยสื่อสารเชิงวัฒนธรรม เมื่อ AI เข้ามามีบาท นักสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ต้องให้ความสำคัญ
สำหรับนักสื่อสาร ที่กำลังทำแผนการสื่อสารกลยุทธ์เชิงวัฒนธรรมเพื่อเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายทั่วโลก จำเป็นต้องเรียนรู้ในแต่ละองค์ประกอบอย่างรอบด้านและระมัดระวังประเด็นละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรม โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- เทคโนโลยี (Technology) : ปัจจุบัน เทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ช่วยเหลือการทำงานด้านการสื่อสารในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการตอบข้อความอัตโนมัติ เลขาฯส่วนตัว หรือการแปลเป็นภาษาท้องถิ่น และอื่นๆ ทำให้องค์กรสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างแคมเปญสื่อสารเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในหลากหลายภาษาด้วย
- เนื้อหา (Content) : ด้วยระบบประมวลผลของ AI ทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ทำให้สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาได้ตามความต้องการและความสนใจของแต่ละบุคคลได้ ทั้งในรูปแบบของการสร้างหัวข้อ รายงาน หรือเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารเรื่องนั้นๆ
- ข้อมูล (Data) : คลังข้อมูลจำนวนมากในระบบวิเคราะห์ของ AI เอื้อต่อการใช้งานทั้งภายในองค์กรและหน่วยงานที่ปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรม ความรู้สึก และแนวโน้มพฤติกรรมของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ทำให้นักสื่อสารและประชาสัมพันธ์สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การสื่อสารได้อย่างทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งการกำหนดตัวชี้วัดหรือ KPI ด้วยเครื่องมือ AI ทำให้สามารถวัดประสิทธิภาพของการสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น
- กฎหมาย (Legal) : องค์กรควรตระหนักถึงประเด็นด้านจริยธรรมเมื่อใช้ AI ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการได้มาซึ่งข้อมูล นโยบายความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ กฎหมายและข้อบังคับในการใช้หรือรวบรวมข้อมูลซึ่งในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน จำเป็นที่นักสื่อสารและประชาสัมพันธ์จะต้องระมัดระวัง
แม้ว่าจะมีระบบปัญญาประดิษฐ์มาช่วยนักสื่อสารในการสื่อสาร แต่หัวใจสำคัญที่สุดคือ มนุษย์ หรือนักสื่อสารและประชาสัมพันธ์จะต้องเป็นผู้กำกับดูแลและตรวจสอบ ตัดสินใจดำเนินการรอบด้านอย่างมีจริยธรรมโดยเฉพาะในหัวข้อที่ละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรม
เมื่อพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมดแล้ว นักสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ในประเด็นที่สอดคล้องตามแต่ละวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมย่อย รวมทั้งพิจารณาความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรมได้อย่างรอบคอบ
เรียบเรียงโดย
สราวุธ บูรพาพัธ
สราวุธ เป็นที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง มีประสบการณ์ด้านการสื่อสารในธุรกิจพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจความงาม ธุรกิจบริการ และศูนย์การเรียนรู้ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติกว่า 20 ปี มีความเชี่ยวชาญในการวางแผนการสื่อสารแบบองค์รวม เพื่อสนับสนุนแผนการตลาดหรือสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร รวมทั้ง บริหารจัดการสื่อสารภาวะวิกฤต
จบการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย