เจาะลึกกิจกรรมประชาสัมพันธ์จากกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (PR Agency) และกลุ่มทีมสื่อสารและประชาสัมพันธ์ขององค์กร (Inhouse PR) ชั้นนำของไทย ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 โดยสำรวจบทบาท วิธีการ และภาพรวมการแข่งขันด้านการสื่อสารของภาคอุตสาหกรรม
ผลสำรวจรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (PR Agency) และทีมสื่อสารและประชาสัมพันธ์ขององค์กร (Inhouse PR) ชั้นนำของไทย ซึ่งจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ โดยการส่งข้อมูลมายังกองบรรณาธิการของเว็บไซต์ PR Matter ผ่านอีเมล์ thaiprmatter@gmail.com ระหว่างวันที่ 1-31 มกราคม พ.ศ. 2567
จุดเด่นในการทำงานของแต่ละทีมสื่อสาร
บริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (PR Agency)
มีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ง่าย:
เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษามีประสบการณ์ในการให้บริการลูกค้าในหลากหลายกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรม ทำให้สามารถดำเนินการได้คล่องตัวและปรับกลยุทธ์ต่างๆ ได้ทันต่อเหตุการณ์ด้วยประสบการณ์ที่หลากหลาย
มุมมองจากภายนอก:
หลายครั้งบริษัทที่ปรึกษาจะเปิดมุมมองและกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการสื่อสาร ช่วยสร้างประสบการณ์ให้แก่กลุ่มลูกค้าของแต่ละองค์กรได้เป็นอย่างดี
ความพร้อมของทีมงาน:
แต่ละบริษัทที่ปรึกษาต่างมีบุคลากรที่ให้บริการที่มีความสามารถและความรู้ในหลายด้านทั้งในแง่นักวางกลยุทธ์ นักเขียน นักออกแบบ และนักสื่อสารดิจิทัล ทำให้สามารถสนับสนุนแผนการสื่อสารได้อย่างสมบูรณ์
ทีมสื่อสารและประชาสัมพันธ์ขององค์กร (Inhouse PR)
การสนับสนุนเป้าหมายขององค์กร:
ทีมประชาสัมพันธ์ภายในองค์กร สามารถบูรณาการด้านการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับวัฒนธรรม เป้าหมาย และค่านิยมขององค์กร ทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างราบรื่นและสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารได้อย่างรวดเร็ว
การสนับสนุนแบรนด์:
ทีมประชาสัมพันธ์ภายในองค์กร มีความเข้าใจโดยธรรมชาติเกี่ยวกับแบรนด์ ทำให้สามารถสร้างเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ และสามารถควบคุมประเด็นหรือเนื้อหาให้เกิดความสอดคล้องและต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การประสานงานและความรับผิดชอบ:
ทีมประชาสัมพันธ์ภายในองค์กร มีบทบาทสำคัญในช่องทางการสื่อสารโดยตรงระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งในด้านการปรับปรุงกระบวนการ และการตอบสนองที่รวดเร็วเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น
จากลักษณะเด่นของแต่ละทีมสื่อสารทำให้กิจกรรมประชาสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนของปี พ.ศ. 2567 มีพัฒนาการและความน่าสนใจ โดยสามารถสรุปได้ดังนี้
ผูัมีบทบาทมากที่สุด ในการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ได้แก่ บริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (PR Agency)
บริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (PR Agency) ยังมีบทบาทสำคัญต่อภาคธุรกิจในการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 ขณะเดียวกันภาคธุรกิจเองก็ให้ความสำคัญต่องานประชาสัมพันธ์โดยมอบหมายให้บุคลากรในหน่วยงานรับผิดชอบ (Inhouse PR) คิดเป็นร้อยละ 38 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ให้ความสำคัญกับกิจกรรมประชาสัมพันธ์สูงถึงร้อยละ 27.8 เมื่อเทียบในกลุ่มทีมสื่อสารและประชาสัมพันธ์ขององค์กร (Inhouse PR) ด้วยกัน
เมื่อพิจารณาแยกตามส่วนความรับผิดชอบ
ทีมสื่อสารและประชาสัมพันธ์ขององค์กร (Inhouse PR)
เมื่อจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ให้ความสำคัญกับการสื่อสารและประชาสัมพันธ์มากที่สุด พิจารณาจากจำนวนหน่วยงานที่จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ รองลงมา ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าเพื่อผู้บริโภค ส่วนอุตสาหกรรมบันเทิง รถยนต์ และอุตสาหกรรมหนัก ก็ให้ความสำคัญเท่ากัน แต่มากกว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และการศึกษาที่ต่างให้ความสำคัญเหมือนกันทว่าอยู่ในลำดับที่น้อยที่สุด
บริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (PR Agency)
เมื่อจำแนกตามประเภทของบริษัทที่ปรึกษาแล้ว พบว่า บทบาทในการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ยังคงเป็นหน้าที่หลักของบริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (PR Firm) รองลงมาเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการจัดกิจกรรมหรืออีเวนต์ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในกิจกรรมประชาสัมพันธ์แต่ยังเป็นส่วนน้อยเพียงร้อยละ 3.4 เช่นเดียวกัน เริ่มมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หันมาใช้บริการ นักประชาสัมพันธ์อิสระ หรือ Freelance PR แต่ยังไม่มาก คิดเป็นอัตราส่วนเท่ากับบริษัทที่ให้บริการด้านการจัดกิจกรรมหรืออีเวนต์ ร้อยละ 3.4
กิจกรรมประชาสัมพันธ์ที่มีบทบาทมากที่สุดได้แก่ ข่าวแจก
เมื่อพิจารณาในกิจกรรมประชาสัมพันธ์โดยภาพรวม ทั้งในส่วนของบริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (PR Agency) และทีมสื่อสารและประชาสัมพันธ์ขององค์กร (Inhouse PR) ต่างให้ความสำคัญต่อ กิจกรรมประชาสัมพันธ์ประเภท การจัดส่ง “ข่าวแจก” คิดเป็นร้อยละ 92.9 เพราะข่าวแจกในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่เป็นการให้ข้อมูล ยังเป็นการเสริมประสิทธิภาพในระบบการค้นหา (SEO) ของเครื่องมือการค้นหา อาทิ Google, Bing, Yahoo และอื่นๆ เมื่อกลุ่มเป้าหมายต้องการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ กิจกรรมประชาสัมพันธ์ส่วนอื่นๆ ที่ยังเป็นที่นิยมแต่มีจำนวนไม่มากได้แก่ ภาพข่าว ปฏิทินข่าว งานแถลงข่าว และบทความประเภทความรู้
กิจกรรมประชาสัมพันธ์หลักของทีมสื่อสารและประชาสัมพันธ์ขององค์กร (Inhouse PR) คือ ข่าวแจก
ข่าวแจก เป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารกับสื่อของทีมประชาสัมพันธ์ขององค์กร สูงถึงร้อยละ 90.3 ในขณะที่กิจกรรมอื่นๆ อย่างการจัดส่งปฎิทินข่าว (Calendar News) หรือการเชิญสื่อเข้าร่วมสัมภาษณ์ผู้บริหาร (Exclusive Interview หรือ Group Interview) ไม่เป็นที่นิยมจัด แต่ให้ความสำคัญกับการส่ง ภาพข่าว และ การจัดงานแถลงข่าวแทน คิดเป็นร้อยละ 6.5 และ 3.2 ตามลำดับ
กิจกรรมประชาสัมพันธ์ ส่งข่าวแจก ภาพข่าว และปฏิทินข่าว กลายเป็นเครื่องมือหลักในการทำงานข่าวของบริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (PR Agency)
ร้อยละ 96.8 ของกิจกรรมประชาสัมพันธ์ทั้งหมดใน 1 เดือน บริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (PR Agency) ใช้ในการจัดส่ง ข่าวแจก ภาพข่าว และปฏิทินข่าว ขณะเดียวกัน กิจกรรมที่จะขาดไม่ได้ในแต่ละเดือนคงหนีไม่พ้นการจัดงานแถลงข่าว และการเขียนบทความประเภทความรู้
ดังนั้น ทักษะการเขียน นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนางานด้านการข่าวของทีมสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เพราะกิจกรรมประชาสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นข่าวแจก ภาพข่าว ปฏิทินข่าว และบทความประเภทความรู้ยังเป็นกลวิธีหลักของงานประชาสัมพันธ์ รวมทั้ง การจัดกิจกรรมแถลงข่าว ก็เป็นกิจกรรมสำคัญที่ยังคงมีอิทธิพลในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้เกิดขึ้นในกลุ่มสื่อต่างๆ ให้สามารถนำข้อมูลและข่าวสารไปถ่ายทอดให้แก่กลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษา
สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ รวบรวมข้อมูลการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ของบริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (PR Agency) และทีมสื่อสารและประชาสัมพันธ์ขององค์กร (Inhouse PR) จาก 47 องค์กรในประเทศไทย โดยจัดส่งมายังเว็บไซต์ prmatter.com ผ่านอีเมล์ thaiprmatter@gmail.com ระหว่างวันที่ 1-31 มกราคม พ.ศ. 2567
รายชื่อบริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (PR Agency) และทีมสื่อสารและประชาสัมพันธ์ขององค์กร (Inhouse PR) ไม่รวม Freelance PR
เรียบเรียงโดย
สราวุธ บูรพาพัธ
สราวุธ เป็นที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง มีประสบการณ์ด้านการสื่อสารในธุรกิจพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจความงาม ธุรกิจบริการ และศูนย์การเรียนรู้ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติกว่า 20 ปี มีความเชี่ยวชาญในการวางแผนการสื่อสารแบบองค์รวม เพื่อสนับสนุนแผนการตลาดหรือสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร รวมทั้ง บริหารจัดการสื่อสารภาวะวิกฤต
จบการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย