ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลกเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งความตึงเครียดทางการเมือง ภาวะอากาศที่แปรปรวน เหตุการณ์โรคระบาด และปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตของพนักงานทั่วโลก ดังนั้น วันสุขภาพจิตโลกที่จัดขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราจะได้หยุดคิดถึงปัญหาสุขภาพจิตและหันมาใส่ใจการดูแลกันให้มากขึ้น
สำหรับปีนี้ ธีมของวันสุขภาพจิตโลก คือ “สุขภาพจิตในที่ทำงาน” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญขององค์กรในการสนับสนุนและดูแลสุขภาพจิตของพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านี้ องค์กรสามารถมีบทบาทสำคัญในการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี ส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยและเปิดใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต และสร้างความแข็งแกร่งด้านจิตใจให้กับพนักงาน
ความเครียดและความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้น
ในยุคปัจจุบัน เราเห็นวิกฤติการณ์ทั่วโลกที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น นำมาซึ่งความกดดันและความคาดหวังที่สูงขึ้นในที่ทำงาน ซึ่งทำให้พนักงานหลายคนเกิดความเครียดและความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประมาณ 15% ของประชากรวัยทำงานทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และยังมีการเปิดเผยข้อมูลจาก International SOS ที่พบว่า การขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุดในช่วงสองปีที่ผ่านมา ได้แก่
- ความวิตกกังวล
- ภาวะซึมเศร้า
- โรคตื่นตระหนก
- ภาวะสมาธิสั้น (ADHD)
- ความเครียดเฉียบพลัน
อีกปัญหาหนึ่งที่พบอย่างแพร่หลายในที่ทำงานคือภาวะหมดไฟ (Burnout) โดยพบว่าพนักงานทั่วโลกกว่า 1 ใน 4 มีอาการนี้ ซึ่งข้อมูลจากรายงาน International SOS Risk Outlook 2024 ระบุว่าภาวะหมดไฟเป็นหนึ่งในภัยคุกคามสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรทั่วโลก
ผลกระทบทางเศรษฐกิจของปัญหาสุขภาพจิต
ไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อบุคคลเท่านั้น แต่ปัญหาสุขภาพจิตยังส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้างอีกด้วย องค์การอนามัยโลกระบุว่า แต่ละปีโลกสูญเสียวันทำงานไปประมาณ 12,000 ล้านวัน เนื่องจากภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล คิดเป็นมูลค่าผลิตภาพที่หายไปมากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ดังนั้น องค์กรควรให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมสุขภาพจิต เพื่อให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนที่เกิดจากปัญหาสุขภาพจิต
เคล็ดลับการสนับสนุนสุขภาพจิตในที่ทำงาน
แล้วเราจะทำอย่างไรให้องค์กรของเราส่งเสริมสุขภาพจิตได้ดีขึ้น? นี่คือเคล็ดลับจาก International SOS ที่แนะนำให้องค์กรนำไปใช้:
- สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่สนับสนุนสุขภาพจิต – การสร้างวัฒนธรรมในที่ทำงานที่เน้นการเปิดใจและการสื่อสารเรื่องสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญ ควรผสานการดูแลสุขภาพจิตเข้าไปในนโยบายขององค์กรอย่างเหมาะสม
- ให้การเข้าถึงแหล่งข้อมูลและการสนับสนุน – ควรมีแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพจิตที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น บริการให้คำปรึกษา และเอกสารแนวทางการดูแลสุขภาพจิตด้วยตัวเอง
- ส่งเสริมความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน – ควรมีการปรับเวลาทำงานให้ยืดหยุ่นหรือการทำงานจากที่บ้าน เพื่อให้พนักงานสามารถจัดการชีวิตส่วนตัวและการทำงานได้ดีขึ้น
- การฝึกอบรมและให้ความรู้ – ควรมีการจัดอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตและลดความอคติที่มีต่อปัญหานี้
- ตรวจสอบและปรับปรุงอยู่เสมอ – ควรมีการสำรวจความคิดเห็นและประเมินสุขภาพจิตของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำมาปรับปรุงแผนการสนับสนุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ลงทุนในความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจ – ควรมีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างจิตใจ เช่น คลาสการทำสมาธิ การจัดการความเครียด หรือการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
ในท้ายที่สุด การดูแลสุขภาพจิตในที่ทำงานไม่เพียงแต่ทำให้พนักงานมีความสุขมากขึ้น แต่ยังส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และช่วยให้องค์กรเจริญเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว
ข้อมูลจาก International SOS Group
เป็นผู้นำระดับโลกด้านการจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัย ก่อตั้งในปี 1985 โดยมีสำนักงานใหญ่ในลอนดอนและสิงคโปร์ ให้บริการแก่ลูกค้ากว่า 9,000 องค์กรทั่วโลก รวมถึงบริษัทชั้นนำ หน่วยงานรัฐบาล และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ด้วยทีมงานผู้เชี่ยวชาญเกือบ 12,000 คนในกว่า 1,200 สถานที่ใน 90 ประเทศทั่วโลก นำเสนอแนวทางการป้องกันและการตอบสนองต่อวิกฤตอย่างทันท่วงทีโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อช่วยองค์กรในการปฏิบัติตาม Duty of Care ปกป้องพนักงาน และสนับสนุนความยั่งยืนในระยะยาวของธุรกิจ
เรียบเรียงโดย
สราวุธ บูรพาพัธ
สราวุธ เป็นที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง มีประสบการณ์ด้านการสื่อสารในธุรกิจพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจความงาม ธุรกิจบริการ และศูนย์การเรียนรู้ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติกว่า 20 ปี มีความเชี่ยวชาญในการวางแผนการสื่อสารแบบองค์รวม เพื่อสนับสนุนแผนการตลาดหรือสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร รวมทั้ง บริหารจัดการสื่อสารภาวะวิกฤต
จบการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย