fbpx

หยุดเป็น พีอาร์ซอมบี้ แล้วเรียนรู้ กลยุทธ์สื่อสารจากงาน Halloween

ใกล้ Halloween แล้ว นักสื่อสาร เตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง เตรียมโหนกระแสกับคืนหลอน หรือ ออกไปหลอก-เลี้ยงกับแก๊งค์เพื่อนสาว (อย่าลืมกลับก่อนเคอร์ฟิวนะ และระวังตัวการ์ดอย่าตกกันด้วย COVID-19 ยังคงอยู่นะจ๊ะ)

halloween

เมื่อพูดถึงแนวคิดงาน Halloween มีล้านแปดไอเดียที่นักสื่อสารจะนำมาใช้เป็นกลยุทธ์การสื่อสาร เรียกแบบเกร๋ เกร๋ ว่า แนวคิด ฟื้นชีพไอเดียพีอาร์จากความตาย ยกตัวอย่างเช่น

การใช้เรื่องราวที่ไม่เคยตกเทรนด์ เอามาพูดทีไร คนก็สนใจตลอด หรือ วงการสื่อสารเรียกว่า evergreen story เหมือนกับ Halloween ไง เกิดขึ้นทุกปี มีกระแสทุกครั้ง จะมาเล่ากี่ปี กี่หน คนก็ยังสนใจ หรือ valentines จะมาเล่าใหม่ รีรันกี่รอบ คนก็ยังตามติด ให้ความสนใจ เช่นเดียวกัน นักสื่อสาร ลองนึกกันดูสิ เรื่องอะไรบ้างที่พูดกี่ครั้ง คนก็สนใจ หากนึกไม่ออก ยังจำ 4 เรื่องนี้ได้ไหม เซ็กส์ หวย มวย ผี เรื่องที่มักเป็นคน เป็นกาวเชื่อมความสนใจของคนไทย ติดตามเรื่องราวฉบับเต็มของประเด็น เซ็กส์ หวย มวย ผี ได้จาก Youtube ด้านล่าง

ในแง่ของธุรกิจ หากเราต้องการสร้างกระแสหรือเรียกความสนใจจากกลุ่มเป้าหมาย อาจทำประเด็นที่โหนกระแส แล้วเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจก็ได้ หรือ ผุดไอเดียจากแนวคิดของเทศกาล เช่น คืนชีพหุ่นสวย จากซอมบี้เป็นซอนย่า หากคุณเป็นผลิตภัณฑ์ความงาม อาหารเสริม หรือสุขภาพ หรือหากเป็นแนวธุรกิจ ช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำไมไม่ลองทำประเด็นแบบ New Year Business Resolution กันบ้างละ หรือจะเรียกว่าเป็น ปีใหม่ คิดใหม่ เป้าหมายใหม่ธุรกิจ

halloween

แม้ว่า ซอมบี้ จะเป็นผีไฮไลท์หลัก แต่เวลาทำการสื่อสาร ก็อย่าทำตัวเป็นซอมบี้ละ เพราะ ซอมบี้ ชอบเดินแบบไร้เป้าหมาย โต๋ไปเต๋มา การทำงานสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ จะต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัด จะพูดอะไร อย่างไร และถึงใคร ที่สำคัญ ให้ถูกเวลาด้วย หลายครั้งการสื่อสารวางแผนมาอย่างดี กลยุทธ์เด่นมาก แต่ปล่อยเรื่องราวผิดเวลา แทนที่งานจะปัง อาจจะ แป๊ก ก็ได้นะ รวมทั้ง ซอมบี้ เป็นผีที่ไม่น่าเข้าใกล้ การเป็นพีอาร์ซอมบี้ ก็เช่นกัน อย่าทำตัวลอยไปมาไร้จุดหมาย ไม่คิดจะสร้างสัมพันธ์กับสื่อ ยิ่งเดี่ยวนี้ สื่อมีความหลากหลาย และเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น การที่ทำให้ตนเป็นที่รู้จักและจดจำของสื่อ เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเมื่อคุณติดต่อ ประสานงานไป สื่อจะได้จดจำคุณได้ และกล้าให้คุณเข้าถึงได้ง่าย ที่สำคัญอย่าลืมนะว่า นอกจาก การรู้จักและจดจำ แล้ว จะต้องเข้าใจความต้องการของสื่อแต่ละแหล่งด้วยว่า เขาสนใจอะไร เขาชอบเล่นประเด็นแบบไหน deadline เป็นอย่างไร รวมทั้ง รับปากอะไรแล้วก็ทำให้ได้ด้วยละ นักสื่อสารและประชาสัมพันธ์

เลี้ยง หรือ หลอก (trick or treat) บางครั้งในการดำเนินธุรกิจ อะไร ๆ ก็ไม่เป็นไปตามคาดหมาย บางครั้งวางแผนดิบดี โชคหนุน ทั้งสื่อและกลุ่มเป้าหมายก็ treat เราอย่างดี ทั้งในแง่การลงข่าว เผยแพร่ข้อมูล และกลุ่มเป้าหมายก็ซื้อหรือใช้บริการอย่างล้นหลาม แต่บางครั้งวางแผนดิบดี เจอผีผลัก เกิด crisis ขึ้นได้เช่นกัน เรียกว่า อยู่ดี ๆ ผีก็หลอก เสียงั้น ดังนั้น การบริหารจัดการเรื่องราวที่ไม่ดีบนโลกออนไลน์ก็เป็นสิ่งที่นักสื่อสารต้องเตรียมรับมือไว้ จะให้ดีก็ควรทำ social listening หรือ คอยตรวจสอบติดตามประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแบรนด์หรือบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอ จะได้จัดการเสียก่อนที่จะเกิดขึ้นเป็นประเด็น แล้วลุกลามเป็นวิกฤต หรือ crisis โดยเฉพาะปัจจุบัน สื่อมักนำประเด็นต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ ไปนำเสนอหรือขยายเรื่องราวต่อบนโลกออฟไลน์ อย่างใน โทรทัศน์ หรือ หนังสือพิมพ์ การจัดการประเด็นอย่างทันท่วงที ย่อมดีกว่ามาตามแก้ ตามล้าง ตามเช็ดกันในภายหลัง

ไม่มี ปาร์ตี้ ก็ไม่นับว่าเป็น halloween สิ หนึ่งในกลวิธีของการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ คือ การจัดกิจกรรมพิเศษ หรือ special event ดังนั้น การจัดงาน ก็ยังเป็นสร้างสีสันให้แก่ประเด็นและเนื้อหาของเราได้เป็นอย่างดี ก็อย่างว่า จะเอาแต่ส่งข่าวน่าเบื่อตลอดเวลาได้อย่างไร บางครั้ง บางโอกาส หากเหมาะ สอดคล้องกับเป้าหมาย ลองพิจารณาจัดกิจกรรมบ้าง ไม่ว่าจะเป็น งานแถลงข่าว งานปาร์ตี้เปิดตัวสินค้า งานพิธีการ เฉลิมฉลองครบรอบปีของบริษัท เป็นต้น เพราะการจัดกิจกรรม ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ได้สร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย ทั้ง สื่อและผู้บริโภค ยังเสริมให้แบรนด์และบริษัทฯ ได้รับการเผยแพร่ข่าวสารไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น อย่ามัวแต่ทำพีอาร์แบบซอมบี้ ส่งข่าวซ้ำซาก บ่อย ๆ จนคนส่งก็เบื่อ คนรับก็หน่าย

เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนแล้ว จะหมดปีเก่า เริ่มต้นปีใหม่ ได้เวลาของนักสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ได้กลับมาทบทวนย้อนหลังถึงแนวทางการสื่อสาร และเตรียมพัฒนาแผนการสื่อสารใหม่ในปีถัดไปได้แล้ว

ภาพประกอบจาก pixabay.com

ข้อมูลอ้างอิง

คุณคิดว่าข่าวดียุค 4.0 เป็นอย่างไร? “เซ็กส์ หวย มวย ผี…คือข่าวดียุค 4.0 ใช่หรือไม่ ?”. สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=nqdtIEGmQIs

Evergreen (journalism). Wikipedia. Retrieve from https://en.wikipedia.org/wiki/Evergreen_(journalism)

เขียนโดย

สราวุธ บูรพาพัธ

สราวุ​ธ เป็นที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง มีประสบการณ์ด้านการสื่อสารในธุรกิจพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจความงาม ธุรกิจบริการ และศูนย์การเรียนรู้ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติกว่า 20 ปี มีความเชี่ยวชาญในการวางแผนการสื่อสารแบบองค์รวม เพื่อสนับสนุนแผนการตลาดหรือสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร รวมทั้ง บริหารจัดการสื่อสารภาวะวิกฤต

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *